พื้นฐานการถ่ายภาพ ปี 2019 พร้อมทั้งรวมเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบ เรื่องของกล้อง และเลนส์เบื้องต้น เพื่อให้มมือใหม่สามารถที่จะต่อยอดและศึกษาเพิ่มเติมได้ครับ แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีคนที่ถ่ายรูปเป็นและเก่งขึ้นเยอะกว่าเมื่อก่อนมาก แต่ก็มีหลายคนที่เพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้ ผมก็เลยอยากจะนำเนื้อหานี้เพื่อที่จะเป็นคู่มือการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่ครับ หวังว่าเนื้อหานี้จะช่วยเป็นไกด์ไลน์ให้กับมือใหม่ได้นะครับผม
แล้วก็สไตล์การเขียนและการเล่าเนื้อหาของผมจะเป็นแนวแบบเหมือนเล่าให้เพื่อนฟังมากกว่านะครับ จะเน้นการสื่อสารที่เข้าใจง่าย แล้วไม่ต้องอ่านเพื่อตีความซ้ำ ๆ ผมจะพยายามทำให้เนื้อหาเข้าถึงคนอ่านได้มากที่สุดครับ
เกริ่นนำเรื่องกล้องดิจิตอลในปัจจุบัน ระหว่าง MIRRORLESS และ DSLR
กล้องในปัจจุบันจะมีสองแบบ ก็คือ Mirrolress และ DSLR ซึ่งในปัจจุบันความแพร่หลายจะอยู่ที่กล้อง Mirrorless ค่อนข้างมากในปัจจุบัน เนื่องจากศักยภาพทางเทคโนโลยี เทรนด์ของกลุ่มผู้ใช้ แล้วก็ขนาดของกล้องเอง สามารถที่จะเข้าถึงกลุ่มคนระดับทั่วไปได้มากกว่า
ส่วนกล้อง DSLR ก็ยังมีการใช้งานอยู่นะครับ แล้วก็ศักยภาพยังดีด้วย อีกทั้งราคายังขยับลงมาเนื่องจากกลไกตลาดอีกทำให้กล้อง DSLR ในหลาย ๆ รุ่นก็ยังได้รับความนิยมอยู่ รวมถึงฟิลลิ่งของเสียงชัตเตอร์ และบริบทในการใช้ทำให้หลายคนยังชอบ DSLR อยู่ก็มีครับ
พื้นฐานเกี่ยวกับ กล้อง DSLR ทำงานยังไง?
ชื่อเต็มของ DSLR คือ Digital Single Lens Reflex ชื่อเขาได้บอกถึงลักษณะการทำงานไว้ให้เราเข้าใจคร่าว ๆ แล้วครับ หลักการคือกล้องดิจิตอลจะใช้กลไกกระจกสะท้อนแสงจากเลนส์กล้องไปที่ชอบมองภาพออพติคอลที่เป็นกระจกจริง ๆ ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นมุมมองตามอย่างที่กล้องเห็น
เมื่อเรามองผ่านช่องมองภาพ (View Finder) ที่ด้านหลังของกล้อง สิ่งที่เราเห็นก็คือสิ่งที่ถูกส่งผ่านเลนส์ที่อยู่ด้านหน้ากล้อง เข้าไปยังกระจกสะท้อนแสงที่ตั้งอยู่ทำมุม 45 องศาด้านในบอดี้ของกล้อง จากนั้นส่งต่อแสงไปอีกที่นึงคือ Pentaprism แล้วก็ทำให้เรามองเห็นภาพนั้นนั่นเองครับ
เมื่อเราถ่ายภาพ (หรือตอนกดชัตเตอร์นั่นแหละ) กระจกสะท้อน จะถูกยกขึ้นแล้วปล่อยให้แสงผ่านเข้ามาโดยตรง จากนั้นม่านชัตเตอร์จะเปิดให้แสงเข้ามาถึงเซ็นเซอร์รับภาพ ซึ่งม่านชัตเตอร์จะเปิดตามที่เราตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ไว้ หลังจากนั้นม่านก็จะปิดลง และกระจกสะท้อนภาพจะกลับเข้าไปยังจุดเดิมครับ
รูปแบบการทำงานจริงถ้าอธิบายจะละเอียดกว่านี้นะ แล้วก็กล้องทำงานซับซ้อนกว่านี้ เพียงแต่ผมอธิบายให้เข้าใจเป็นภาพรวมง่าย ๆ (แค่นี้ก็ยาวแล้ว)
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง MIRRORLESS ทำงานยังไง
ในทางตรงกันข้ามกับกล้อง DSLR กล้อง Mirrorless นั้นถูกออกแบบให้มีกลไกภายในที่ง่ายกว่ามาก แสงจะผ่านจากเลนส์เข้าไปยังเซ็นเซอร์ภาพโดยตรง และภาพก็จะถูกส่งไปที่ช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์แทน เพราะไม่มีกระจกสะท้อนภาพเหมือน DSLR ก็เลยเรียก Mirrorless ครับ แล้วก็ตัวกล้องจะเปิดให้เซ็นเซอร์นั้นรับภาพอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ Viewfinder สามารถมองเห็นภาพได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากดถ่ายภาพ ตัวม่านชัตเตอร์กลไกจะทำงานตามปกตินั่นเองครับ (แต่ก็สามารถตั้ง Electronic Shutter ได้ด้วยนะ เดี๋ยวไว้ค่อยอธิบายเรื่องนั้นอีกที ให้เข้าใจเท่านี้ก่อน)
กล้อง MIRRORLESS หรือว่ากล้อง DSLR ดีกว่ากันล่ะ?
หัวข้อเรียกแขกมาก ๆ จริง ๆ แล้วเรากำหนดไม่ได้ครับว่ากล้อง Mirrorless หรือ DSLR จะเหมาะกับใครนั้น คนเลือกเป็นคนกำหนดมากกว่า แล้วกล้องทั้งสองแบบก็มีข้อดีที่แตกต่างกัน และข้อสังเกตที่แตกต่างกันด้วยครับ
แต่จะผมจะให้ข้อมูลเพื่อเป็นการตัดสินใจเลือกแบบคร่าว ๆ แล้วกันครับ กล้อง Mirrorless มีข้อดีที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก DSLR หลายประการเหมือนกัน หลัก ๆ ก็เรื่องของน้ำหนักเบา, ขนาดที่เล็กลงมา พกพาง่ายขึ้น, ช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่เห็นภาพอย่างที่กล้องเห็น ทำให้เราสามารถที่จะสังเกตรายละเอียดต่าง ๆ ที่กล้องเห็นได้เลย เช่น สีที่ใช้ ฮิสโตรแกรมแบบสด ๆ จากในช่องมองภาพ แล้วก็การแสดงผลอื่น ๆ
นอกจากนี้ในปัจจุบันก็จะมีการพัฒนาระบบตรวจจับใบหน้า ดวงตา ได้แม่นยำและทำให้กล้องโฟกัสได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะกล้องรับข้อมูลเข้าเซ็นเซอร์โดยตรงก่อนที่เราจะถ่ายภาพ ทำให้สามารถที่จะพัฒนาชุดคำสั่งต่าง ๆ ในการโฟกัส หรืออื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้
แต่ถึงอย่างนั้น Mirrorless ก็มีข้อสังเกตเหมือนกัน (แต่ปัจจุบันก็พัฒนาได้ดีมากขึ้นแล้ว) เรื่องของช่องมองภาพที่จะทำงานได้ก็ต่อเมื่อเปิดกล้องแล้วเท่านั้น เพราะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ (แต่เอาจริง ๆ ไม่เปิดกล้องก็คงไม่ค่อยมีใครส่องจอเล่นหรอก), หรือจะเป็นเรื่องของแบตเตอรี่ที่มักจะหมดเร็วกว่า DSLR เพราะว่าตัว Viewfinder เป็นอิเล็กทรอนิกส์ก็จะมีการใช้แบตเตอรี่มากขึ้น
นอกจากนี้จอ Viewfinder ของบางรุ่นความละเอียดจออาจจะไม่สูงนัก เราอาจจะเห็นเรื่องของการ lag ของหน้าจอบ้าง (แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้วนะ), แล้วก็เรื่องของ Blackout คือตอนกดชัตเตอร์แล้วเฟรมดำ ช่องมองเราจะมืด แต่ของ DSLR เราจะเห็นมืดแค่แว๊บเดียวเพราะม่านทำงาน ยกเว้น Mirrorless ตัวท็อปของบางค่าย คือสามารถใช้ Electornic Shutter กดถ่ายภาพแล้วไม่มี Blackout แต่ราคาก็เอาเรื่องอยู่
DSLR ในปัจจุบันก็ยังมีข้อดีนะ เรื่องของบอดี้ที่มีขนาดใหญ่ ใช้งานลุย ๆ ได้ ราคาค่อนข้างถูกลงเยอะในปัจจุบัน ประสิทธิภาพในการทำงานก็ยังดีมาก ๆ เหมือนกันครับ แล้วก็การรับงานของบางคน ลูกค้าอาจจะยังมี mindset ที่ว่ากล้องใหญ่แล้วดีก็ยังมีนะ อันนี้ต้องลองเลือกกันครับ
พื้นฐานการถ่ายภาพ ปี 2019 เกี่ยวกับเรื่องของ EXPOSURE และค่าความสัมพันธ์ของแสง
สำหรับคนที่เริ่มต้นถ่ายภาพ เรื่องของความเข้าใจว่าอะไรที่มีผลกับแสงว่าภาพสว่างหรือว่ามืด เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ และได้ใช้ตลอดการถ่ายภาพ สำคัญมาก ๆ แล้วถ้าตั้งใจที่จะทำความเข้าใจก็ง่ายนิดเดียวจริง ๆ ครับ
ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราสามารถที่จะควบคุมกล้องได้ดีมากยิ่งขึ้น ถ่ายภาพได้ดีขึ้น รู้ว่าเมื่อไหร่ ควรปรับค่ารูรับแสง, ความเร็วชัตเตอร์ หรือว่า ความไวแสง (ISO) ซึ่งค่าทั้งสามอย่างนี้จะรวมกันเป็นค่าความสัมพันธ์ของแสงนั้นเองครับ
นอกจากนี้ค่าทั้งสามอย่างยังมีผลกับภาพที่เกิดขึ้นด้วยนะครับ เช่นการละลายฉากหลัง หรือการทำให้ชัดทั้งภาพ, การถ่ายภาพให้หยุดนิ่งหรือว่าเบลอ แล้วก็การที่มี Noise ในภาพหรือไม่มี ก็ขึ้นอยู่กับค่านี้เหมือนกัน
APERTURE – รูรับแสง
การรับแสงเกิดขึ้นในสามขั้นตอน เริ่มต้นด้วยรูรับแสง ซึ่งรูรับแสงง่าย ๆ เลยคือรูภายในเลนศ์ซึ่งจะให้แสงผ่านไป มันคล้ายกับรูม่านตาของเรานั่นเองครับ ยิ่งรูรับแสงกว้างมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ภาพของเราก็จะได้รับแสงมากขึ้น มีความสว่างมากขึ้น
และในทางกลับกัน เมื่อค่ารูรับแสง (F) ต่ำลง แสงที่เข้าจะน้อยลงด้วยครับ ซึ่งสำหรับคนที่อ่านมาตรงนี้ก็คงรู้สึกว่า งั้นทำไมเราไม่ใช้รูรับแสงกว้าง ๆ ไปเลยล่ะ ภาพจะได้สว่างตลอด
มีอีกเรื่องที่ต้องรู้ครับ เมื่อไหร่ที่รูรับแสงกว้างขึ้น ก็จะเกิดผลตามมากับภาพด้วยคือ ภาพจะเกิดชัดตื้นง่ายกว่าเดิม คืออะไรที่อยู่นอกเหนือจากจุดโฟกัสจะเบลอ (ที่เราชอบเรียกหน้าชัดหลังเบลอนั่นเอง) แสดงว่าถ้าหากว่าเราใช้รูรับแสงกว้างในการถ่ายภาพวิวคงจะไม่ดีแน่ เพราะเราต้องการชัดทั้งภาพ ดังนั้นการเลือกใช้รูรับแสงให้เหมาะสมกับภาพที่เราต้องการจะถ่ายก็เป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นเดียวกันครับ
เจาะลึกเรื่องรูรับแสงที่มือใหม่ควรรู้
SHUTTER SPEED – ความเร็วชัตเตอร์
มาทำความรู้จักกับ Shutter Speed กันก่อน Shutter Speed จะมีผลโดยตรงกับเรื่องของภาพที่ได้ คือเมื่อความเร็วชัตเตอร์สูง ๆ ภาพที่จับได้ก็จะนิ่งกริ๊บ ถ้าความเร็วชัตเตอร์ต่ำลง ภาพที่ได้ก็จะเบลอ นอกจากนี้ความเร็วชัตเตอร์ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดปริมาณแสงที่ผ่านเข้ามาจากรูรับแสงก่อนจะไปยังเซ็นเซอร์ ว่าเราจะปล่อยให้เข้าไปได้เท่าไหร่อีกด้วย
โดยปกติแล้วเราต้องการเพียงเสี้ยววินาทีที่น้อยมากเช่น 1/250 เป็นต้น ซึ่งการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ควรจะตั้งที่เท่าไหร่นั้น อยู่ที่สถานการณ์ที่เราจะใช้ และการสร้างสรรค์ภาพถ่ายก็มีส่วนในการกำหนดค่านี้ด้วยครับ
บทความเจาะลึกพื้นฐานเรื่องความเร็วชัตเตอร์สำหรับมือใหม่
ISO – ค่าความไวแสง
เมื่อแสงผ่านรูรับแสงและถูกกรองด้วยความเร็วชัตเตอร์ แสงก็จะไปถึงเซ็นเซอร์ซึ่งค่า ISO จะเป็นตัวแปรในการกำหนดระดับของของที่ได้ ความไวแสงยิ่งเยอะ ภาพยิ่งสว่าง แต่ก็มีข้อเสียตามมาคือจะเกิด Noise ในภาพ หรือสัญญาณรบกวน เมื่อมี ISO ที่มากขึ้น ดังนั้นเราก็ต้องเลือกค่านี้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมด้วยนะครับ
พื้นฐานการถ่ายภาพเกี่ยวกับเรื่องของความไวแสงสำหรับมือใหม่
– รวมพื้นฐาน ISO SENSITIVITY สำหรับมือใหม่ที่เริ่มต้นถ่ายภาพ
สรุปสุดท้ายเรื่อง EXPOSURE (TRIANGLE EXPOSURE) ก็คือนำทั้งสามค่ามาดูความสัมพันธ์แล้วเลือกว่าจะปรับแบบไหนดี
การตั้งค่ากล้องไม่มีค่าไหนที่ดีที่สุดนะ เมื่อไหร่ที่เราเข้าใจองค์ประกอบนี้ว่าแต่ละอย่างทำงานร่วมกันอย่างไร ทั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ ความไวแสง ทั้งสามอย่างนี้ จะเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดสำหรับการเปิดรับแสงถ่ายภาพครับ ซึ่งผมมีทริคง่าย ๆ ให้จับทางการฝึกตามนี้นะครับ
1. หากว่าเราใช้รูรับแสงกว้าง แสงจะเข้ากล้องเยอะ และจะเกิดความชัดตื้นมากขึ้น ช่วยให้แยกวัตถุออกจากฉากหลังได้ และโบเก้สวย
2. เมื่อถ่ายภาพควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ = ทางยาวโฟกัส เพื่อไม่ให้ภาพเบลอ (ถ้ากล้องที่มีกันสั่นในตัวจะลดความเร็วชัตเตอร์ได้ต่ำกว่าปกติอยู่หน่อย
3. ความเร็วชัตเตอร์ที่แตกต่างกัน ช่วยให้เกิดลักษณะของภาพที่ต่างกัน ความเร็วชัตเตอร์สูงจะหยุดภาพได้นิ่งแต่แสงเข้ากล้องน้อย ถ้าความเร็วชัตเตอร์ต่ำ แสงเข้ากล้องเยอะ แต่ก็มีข้อจำกัดคือต้องใช้ขาตั้งกล้อง สายลั่นเป็นต้น
4. ถ่ายภาพให้ใช้ ISO ต่ำที่สุดเพื่อเลี่ยง Noise แต่ถ้าจำเป็นต้องเพิ่ม ก็เพิ่มเถอะครับ
พื้นฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวกล้อง ความเข้าใจ การควบคุมกล้อง สำหรับมือใหม่
โหมดวัดแสง, การวัดแสง เบื้องต้นสำหรับมือใหม่
การวัดแสงก็คือ การที่กล้องจะบอกเราว่าแสงที่เข้ามาเป็นยังไง เพื่อให้เราที่จะประเมินได้ว่าภาพที่จะถ่ายออกมาจากสภาพแสงตอนนี้ ภาพจะมืดหรือว่าสว่าง ซึ่งการวัดแสงจะเป็นตัวชี้ได้ว่า ควรเพิ่มแสงหรือลดแสงนั่นเอง
สำหรับการวัดแสงในกล้อง DSLR จะมีบทบาทค่อนข้างมาก เพราะว่าช่องมอง Optical Viewfinder นั้นจะเห็นภาพสะท้อนจากกระจก เราจะรู้ว่าภาพจะมืดหรือสว่างก็ต้องดูที่สเกลวัดแสง หรือไม่ก็ภาพที่ถ่ายออกมานั่นเอง
แต่ในกล้อง Mirrorless นั้น เราจะเห็นภาพจากที่กล้องเห็นตามจริง แล้วก็มีสเกลวัดแสงบอกควบคู่ไปด้วย ตรงนี้กล้อง Mirrorless จะค่อนข้างสะดวกมากกว่าครับ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโหมดวัดแสงด้วยนะ!
โหมดวัดแสง คือโหมดการคำนวณของแสงนั่นแหละ ว่าเราจะให้กล้องคำนวณด้วยวิธีไหนบ้าง ซึ่งโดยหลักจะมีอยู่ 3 แบบด้วยกัน คือ
- การวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพ คือเอาแสงทั้งภาพมาเฉลี่ยกัน
- การวัดแสงแบบเฉลี่ยกลางภาพ คือเอาแค่แสงตรงส่วนกลางภาพมาเฉลี่ย
- การวัดแสงเฉพาะตรงจุดนั้น ๆ
ซึ่งเราควรจะเลือกหมวดการวัดแสงแบบไหนนั่นก็อยู่ที่เราแล้วครับ เราอยากวัดแบบไหน แต่ถ้าหากว่าต้องการอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องโหมดวัดแสงมากกว่านี้สามารถตามต่อเฉพาะเรื่องของโหมดวัดแสงด้านล่างนี้ได้เลย
บทความเจาะลึกเกี่ยวกับโหมดวัดแสงสำหรับมือใหม่
- โหมดวัดแสง การวัดแสง และ ระบบวัดแสง ฉบับมือใหม่เข้าใจง่าย เลือกใช้ได้ไม่พลาด
- การวัดแสง พื้นฐานการวัดแสง และระบบวัดแสง สำหรับมือใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ
HISTOGRAM – กราฟฮิสโตรแกรม
กราฟฮิสโตรแกรม (Histogram) ก็คือกราฟแท่งที่ทำหน้าที่แสดงจำนวนของพิกเซลที่กระจายกันอยู่ในค่าของความสว่างช่วงต่าง ๆ ของภาพเราครับ โดยจะเริ่มต้นค่านี้ที่ 0 – 255 ซึ่งด้านซ้ายของกราฟจะเป็นส่วนที่มืด เช่น เงา สีดำ เป็นต้น
ส่วนด้านขวาจะเป็นส่วนสว่าง หรืออะไรก็ตามที่เป็นสีขาวในภาพนั่นเองครับ ส่วนตรงกลางก็จะเป็นสีเทานั่นเอง นอกจากนี้จุดที่เป็นความสูงจะเป็นการนับจุดในช่วงสีเดียวกันกับภาพครับ ถ้าหากว่าเรามีสีไหนมาก ๆ ความสูงของสีในช่วงนั้นก็จะสูงขึ้นนั่นเอง พอรวมข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดในภาพก็จะกลายเป็น Histogram อย่างที่เราเห็นครับ
Histogram จะทำให้เราเห็นภาพรวมได้ว่าภาพที่เราถ่ายนั้นมืดไป หรือสว่างไป ข้อมูลในภาพมีโอกาสหลุดไปทางไหน ครับ ซึ่งกราฟนี้ไม่ได้บอกนะว่าภาพถ่ายของเราออกมาดีหรือไม่ดี เพราะบางคอนเซ็ปต์ภาพเราอยากจะได้มืด ๆ กราฟก็จะแสดงออกมาแบบนั้นครับ เพื่อให้เรารู้สถานะข้อมูลภาพเราว่ากล้องจะเก็บข้อมูลมาแบบไหนนั่นเอง
รวมบทความเกี่ยวกับการอ่านค่า HISTOGRAM
CAMERA MODES (SHOOTING MODES) – โหมดถ่ายภาพในกล้องดิจิตอล
สำหรับเนื้อหาในปี 2019 นี้ผมจะเลือกมาแค่ 4 โหมดหลักที่จะฝึกให้เราถ่ายภาพได้เก่งขึ้นและเข้าใจการถ่ายภาพได้เยอะขึ้นครับ ถ้าหากว่าใครต้องการอ่านบทความเรื่องของโหมดถ่ายภาพที่ละเอียดกว่านี้สามารถอ่านได้ที่ท้ายหัวข้อนี้นะครับ (ซึ่งจะรวม 10 โหมดของการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่)
โหมดกล้องหลักที่ผมจะแนะนำสำหรับมือใหม่ตอนนี้คือโหมด P (PROGRAM AUTO), โหมด A (APERTURE PRIORITY), โหมด S (SHUTTER PRIORITY), โหมด M (MANUAL)
โหมด A หรือ APERTURE PRIORITY
โหมดถ่ายภาพนี้จะเป็นการกำหนดค่ารูรับแสงคงที่ เมื่อเราใช้โหมดนี้และตั้งค่ารูรับแสงไว้เช่น F1.4 ตัวกล้องจะทำปรับค่าอื่น ๆ ให้ได้แสงพอตีครับ เป็นโหมดกึ่งอัตโนมัตินั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นค่า Shutter Speed, ISO เราก็สามารถที่จะปล่อยให้กล้องทำงานอัตโนมัติได้ ที่เรียกว่า Apertuer Priority ก็เพราะเรื่องนี้แหละครับ รูรับแสงคือสิ่งสำคัญ เลือกไว้คงที่ ที่เหลือกล้องออโต้ให้หมด
สถานการณ์ไหนที่เราควรใช้โหมด A สำหรับการถ่ายภาพ
ส่วนใหญ่ก็ Portrait หรือการถ่ายภาพในที่แสงน้อย ซึ่งเรามักจะตั้งค่ารูรับแสงที่ต้องการค้างไว้แบบนั้น ที่เหลือเราให้กล้องจัดการให้เราแทนครับ เราต้องการเอฟเฟกต์ของภาพและแสงที่เข้าจากเลนส์ตามที่ต้องการนั่นแหละ
โหมด S หรือ SHUTTER PRIORITY
โหมดถ่ายภาพนี้จะให้ความสำคัญกับความเร็วชัตเตอร์ หรือว่า Shutter Speed เป็นหลัก เหตุผลก็เพราะว่าเราต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์นี้เพื่อการหยุดภาพ หรือต้องการเอฟเฟกต์จากชัตเตอร์ความเร็วนั้น ๆ ครับ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราใช้โหมดนี้ กล้องจะให้เราตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์คงที่ไว้ ที่เหลือกล้องจะคอยคิดและปรับให้เองว่าค่าอื่น ๆ ควรเป็นเท่าไหร่แล้วได้แสงพอดี
สถานการณ์ไหนที่เราควรใช้โหมด S สำหรับการถ่ายภาพ
ส่วนใหญ่เป็นการถ่ายภาพกีฬา ซึ่งเรามักจะเซ็ตค่าความเร็วชัตเตอร์เอาไว้เลย หรือสำหรับบางคนต้องการถ่ายภาพนิ่งเพื่อลากเส้นไฟที่ถนนโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ อย่างที่ต้องการ ก็ตั้งโหมดนี้ไว้ ที่เหลือกล้องจะคิดให้เองครับ
โหมด M หรือ MANUAL
โหมดนี้จะเป็นโหมดที่เราจะตั้งค่าทุกอย่างเองอย่างอิสระ เหมาะกับคนที่เข้าใจพื้นฐานการถ่ายภาพดีแล้ว การที่เราจะถ่ายโหมด M ได้อย่างชำนาญนั้น ต้องอาศัยพื้นฐานในการเข้าใจเกี่ยวกับ Triangle Exposure ที่เอ่ยไว้ด้านบน ซึ่งคนใช้ Mode M จะเข้าใจดีว่าควรปรับค่าอะไรตรงไหน เพื่อให้ภาพที่ได้ออกมาตามต้องการครับ
สถานการณ์ไหนที่เราควรใช้โหมด M สำหรับการถ่ายภาพ
โหมดนี้จริง ๆ แล้วเหมาะกับทุกสถานการณ์ครับ ซึ่งอยู่ที่คนถ่ายเองว่าต้องการตั้งค่าแบบไหน แต่มักจะเป็นจังหวะที่เราไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงค่าต่าง ๆ บ่อยนักครับ ส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งค่าไว้ตามแผนที่อยากจะถ่าย ไม่ว่าจะเป็นงานถ่ายภาพ Landscpae, การถ่ายภาพสินค้า, การถ่ายภาพใน Studio เป็นต้น
โหมด P หรือ PROGRAM AUTO
โหมดนี้จริง ๆ แล้วเป็นโหมดสำหรับมือใหม่ คือโหมดอัตโนมัติแทบจะทั้งหมดของกล้อง เราจะตั้งค่าได้แค่บางอย่าง เช่น ISO, White Balance ครับ แล้วก็พวก Picture Style ส่วนที่เหลือกล้องจัดการให้หมด ที่เอามาพูดทีหลังสุดเพราะอยากให้ทำความเข้าใจกับโหมดหลักที่เราจะเจอก่อนนั่นคือโหมด A, S, M ครับ
สถานการณ์ไหนที่เหมาะจะใช้โหมด PROGRAM AUTO
โหมดนี้ผมเคยใช้ตอนที่ต้องถ่ายรูปแต่เรายังไม่สามารถควบคุมค่าอะไรได้มากนัก หรือต้องให้เพื่อนกดถ่ายให้เราแล้วเพื่อนถ่ายไม่เป็น ผมจะเลือกโหมดนี้ครับ เพราะกล้องแทบจะตั้งโหมดออโตให้หมดเกือบทุกอย่าง
DEPTH OF FIELD – ระยะชัดลึก ระยะชัดตื้น
เมื่อเราถ่ายภาพนั้นเราอาจจะต้องเปิดรูรับแสงกว้างเพื่อให้แสงเข้ามาที่กล้องเยอะขึ้น แต่อย่างที่บอกมันก็จะเกิดผลตามมาในภาพของเราคือ เกิดระยะชัดตื้นมากขึ้นเมื่อใช้รูรับแสงกว้าง ซึ่งความเข้าใจพื้นฐานคือ อะไรที่ทำให้เกิดชัดลึก และอะไรที่ทำให้เกิดชัดตื้น
สิ่งนั้นคือ รูรับแสงครับ รูรับแสงถ้าหากว่ารูรับแสงมีค่า F น้อย โอกาสที่หลังละลายจะเยอะมากขึ้น เหมาะกับการถ่ายภาพ Portrait แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องการจะถ่ายภาพ Landscape ต้องการให้เกิดความคมชัดทั้งภาพ เราก็ใช้รูรับแสงที่เพิ่มมากขึ้นครับ อันนี้เป็นพื้นฐานง่าย ๆ ที่อยากจะย้ำให้เข้าใจเพื่อการควบคุมกล้องที่ดีขึ้นครับ
WHITE BALANCE BASIC – ค่าแสงสมดุลสีขาว
การตั้งค่า White Balance สำหรับมือใหม่จะเป็นเรื่องที่งงมาก ๆ เพราะผมก็จับทางไม่ถูก ดูไม่ออกด้วยซ้ำว่าสีเพี้ยนหรือเราตั้งค่า White Balance ผืดตรงไหน เดี๋ยวเรามาเริ่มต้นใหม่กับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นพร้อม ๆ กันครับ
ค่า White Balance คือ ค่าที่ทำหน้าที่ควบคุมให้สีของภาพออกมาตรงใกล้เคียงแบบที่ตาเราเห็นมากที่สุด โดยต้องจะใช้ White Balance นี่แหละเป็นตัววัดค่าออกมา เมื่อกล้องเรารับภาพ รับแสงเข้ามา แล้วเกิดการผิดเพี้ยนบางอย่างขึ้น เช่น ติดสีส้มที่มาจากหลอดไฟเยอะไป หรือติดสีฟ้าเยอะไป กล้องก็จะคอยเซ็ตค่า White Balance นี้ให้เราได้ภาพที่ตรงตามความเป็นจริงมากที่สุดครับ
แล้วเราควรรู้อะไรหรือทำอะไรเกี่ยวกับ WHITE BALANCE บ้างล่ะ ?
- เราควรจะรู้ว่าค่า White Balance มีอะไรให้เราเลือกใช้บ้าง
- เราควรจะรู้ว่า จะปรับค่า White Balance แบบไหนถึงจะปรับได้อย่างถูกต้อง
โหมด WHITE BALANCE หลัก ๆ จะมีอยู่ตามนี้ครับ
- White Balance แบบ Auto กล้องจะคิดให้เราทั้งหมดโดยที่เราไม่ต้องทำอะไร
- Tungsten – กล้องจะแก้สีส้มในภาพโดยใส่สีน้ำเงิน สีฟ้าเข้าไปให้
- Fluorescent – กล้องจะแก้สีน้ำเงิน สีเขียวในภาพ โดยใส่สีม่วงลงไป
- Daylight – กล้องจะทำการแก้สีฟ้าอ่อน ซึ่งสีนี้จะเป็นสีที่เกิดขึ้นจากดวงอาทิตย์ในตอนกลางวัน โดยกล้องจะใส่สีส้มเข้าไป
- Flash – แก้สีฟ้าอ่อน คล้ายกับ Daylight โดยกล้องจะใส่สีส้ม สีเหลืองเข้าไป
- Cloudy – กล้องจะแก้สีฟ้า ที่เกิดจากเมฆบนท้องฟ้า จะมีสีฟ้ามากกว่าปกติ กล้องก็จะใส่สีส้มเข้าไปให้ครับ
- Shade – แก้สีฟ้าที่เกิดจากการ่ถายภาพในที่ร่ม ซึ่งอาจจะมีสีฟ้ามากกว่าปกติ กล้องก็จะใส่สีส้มเข้าไป
- Custom White Balance – เลือกปรับค่า Kelvin ของสี White Balance เองครับ ใช้กรณีที่อยากได้สี White Balance ตามที่ต้องการ
บทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของ White Blanace
- การตั้งค่า WHITE BALANCE สำหรับมือใหม่ ไม่ให้สีเพี้ยน
- WHITE BALANCE คืออะไร เกี่ยวข้องอะไรกับการถ่ายภาพ มาเรียนเรื่องพื้นฐานกัน
FOCAL LENGTH – ทางยาวโฟกัสเลนส์
เคยสงสัยไหมว่าเลนส์ของเราจะมีระยะ mm บอกอยู่ ซึ่งตรงนั้นมือใหม่อาจจะไม่รู้ว่าคืออะไร ทางยาวโฟกัสตัวนี้จะเป็นตัวบอกว่าเลนส์เราจะเป็นเลนส์ระยะเท่าไหร่ ซึ่งสามารถที่จะบอกได้ว่าเลนส์นั้น ๆ เนี่ย อยู่ในกลุ่มไหน ซึ่งในปัจจุบันก็จะมีระยะ Ultra Wide คือกว้างมาก, Wide มุมกว้าง, Normal ระยะปกติ ช่วงใกล้เคียงระยะสายตา และ Telephoto คือระยะที่ไกลมาก ๆ เดี๋ยวผมจะอธิบายแยกตามนี้ให้นะครับ
- มุมกว้าง จะอยู่ช่วงระยะตำ่กว่า 50mm ลงมา ส่วนใหญ่จะเป็นเลนส์ที่ใช้ถ่ายแนว Landscape ที่เราเห็นกัน ก็จะมีระยะกว้างตั้งแต่ 35mm, 24mm, 16mm กว้างระยะ 12mm ในปัจจุบันก็มีมาแล้วครับ ช่วงตั้งแต่ต่ำกว่า 50mm ลงมาเรียกระยะ Wide เลยก็ได้ครับ
- ระยะ Normal คือระยะ 50mm เป็นช่วงมิติประมาณสายตาของเรานั่นเองครับ ซึ่งเป็นระยะที่ผมแนะนำให้มือใหม่ทุกคนหัดไว้นะ เป็นระยะที่สอนอะไรเราได้หลาอย่างมาก ๆ เลยแหละ
- ระยะ Telephoto เป็นระยะที่มีช่วงซูมมาก ๆ นั่นเอง เหมาะกับการถ่ายภาพที่อยู่ในระยะไกลครับ
สำหรับมุมมองการรับภาพตามระยะเลนส์ก็สามารถดูตามภาพที่ผ่านมาได้เลยครับ เราจะเห็นได้ว่า ยิ่งระยะซูมไกลมาก ๆ ช่วงในการรับภาพก็จะแคบลงมาก ๆ เหมือนกันครับ
BASIC PHOTOGRAPHY COMPOSITION – การจัดองค์ประกอบภาพสำหรับมือใหม่
การจัดองค์ประกอบภาพรอบนี้จะคัดในส่วนที่เริ่มต้นสำหรับมือใหม่ได้ง่าย แล้วสามารถที่จะหัดแล้วได้ภาพถ่ายที่สวยขึ้นนะครับ ส่วนอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนี้สามารถที่จะอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเสริมเลย
บทความเสริมสำหรับเกี่ยวกับเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพ
- 20 วิธีจัดองค์ประกอบภาพ เพื่อให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจที่สุด
- 30 ไอเดียการจัดองค์ประกอบภาพที่จะทำให้ภาพถ่ายของคุณสวยขึ้น
1. การจัดองค์ประกอบภาพด้วยกฎสามส่วน
เราจะเห็นได้ว่าในช่องมองภาพของกล้องเราจะมีสเกลบอกเรื่องของจุดตัดเก้าช่อง และกฎสามส่วนอยู่ ซึ่งจะประกอบไปด้วยส่วนหลักในและตั้ง 3 ส่วน และแนวนอน 3 ส่วน แล้วในแต่ละส่วนก็จะมีจุดตัดอยู่ด้วยกัน 4 จุด
วิธีง่าย ๆ ในการจัดองค์ประกอบภาพด้วยกฎสามส่วนก็คือ การแบ่งส่วนก่อน ส่วนใหญ่จะเน้นว่าถ้าต้องการนำเสนอส่วนไหนเด่น ก็ให้ส่วนนั้น ๆ ใช้พื้นที่ 2 ส่วน แล้วส่วนที่ไม่เน้นใช้ 1 ส่วน เช่น ท้องฟ้า 2 ส่วน พื้นดิน 1 ส่วน, หรือพื้นดิน 2 ส่วน ท้องฟ้า 1 ส่วนก็ได้ ถ้าหากว่าต้องการเน้นพื้นดินเป็นต้น
นอกจากนี้การวางจุดสนใจไว้ตรงจุดตัดก็จะทำให้ภาพถ่ายของเราเรียกความน่าสนใจได้ด้วยครับ
2. การจัดองค์ประกอบภาพแบบเน้นความสมมาตร
การจัดองค์ประกอบให้ดูสมมาตรนั้นจะเน้นนำหนักของภาพทั้งสองด้านให้เท่ากัน สองด้านเหมือนกัน ความสนใจจะตกอยู่ที่กบางภาพ จากนั้นเราแค่เลือกว่าจะให้อะไรอยู่กลางเฟรมภาพเพื่อทำการเล่าเรื่องให้เกิดความน่าสนใจครับ
3. การจัดองค์ประกอบภาพโดยใช้ FOREGROUND, BACKGROUND
การจัดองค์ประกอบภาพโดยเน้นฉากหน้าและฉากหลังนั้น จะเป็นวิธีการง่าย ๆ ที่จะเพิ่มมิติให้กับภาพถ่ายของเราครับ นอกจากนี้การถ่ายภาพโดยที่ไม่ให้ความสำคัญกับฉากหน้า หรือฉากหลัง จะทำให้ภาพถ่ายของเราให้รายละเอียดในการเล่าเรื่องได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นอย่าลืมให้ความสำคัญกับ Foreground ที่เป็นฉากหน้าและ Background ที่เป็นฉากหลังด้วยนะครับ
4. การใช้เส้นนำสายตา
การใช้เส้นนำสายตาคือ การใช้เส้นที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่อยู่รอบข้างมาใช้ในการสร้างจุดสนใจจากขอบภาพไปยังจุดสนใจในภาพ ส่วนใหญ่จะใช้คู่กับการจัดองค์ประกอบภาพอย่าง Rule of Third เข้าไปด้วยครับ ซึ่งแนวเส้นอาจจะเป็นขอบถนน แนวต้นไม้ หรืออะไรก็ได้ที่มีลักษณะเป็นเส้นเพื่อดึงเข้าไปยังจุดสนใจครับ
5. การใช้ PATTERN ในการจัดองค์ประกอบภาพ
การถ่ายภาพแนวนี้คือเมื่อเกิดแพทเทิร์นซ้ำ ๆ สายตาเราก็จะถูกดึงดูดไว้ทันที ซึ่งเราจะสามารถสังเกตได้จากลักษณะของพื้นผิว หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เรารู้สึกได้ว่ามันเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และดูเป็นรูปแบบของอะไรบางอย่าง เราก็สามารถที่จะจัดองค์ประกอบแบบเรียบง่ายแล้วถ่ายก็ได้ครับ
6. การใช้พื้นที่ว่างในการสร้างความน่าสนใจ
พื้นที่ว่างรอบวัตถุนั้นจริง ๆ แล้วสร้างความน่าสนใจให้กับตัวแบบหลักได้นะ ส่วนใหญ่แล้วตอนผมเริ่มต้นถ่ายผมก็จะพยายามจุดทุกอย่างให้อัดแน่นกันอยู่ในเฟรม แต่ความเป็นจริงแล้วพื้นที่ว่างที่ดูสมดุลก็จะสามารถแบ่งน้ำหนักความรู้สึกและมุ่งความสนใจไปยังตัวแบบได้ครับ
จริง ๆ มีการจัดองค์ประกอบภาพอีกหลายแบบเลยที่ผมเคยทำไว้แล้วสามารถที่จะอ่านได้จากลิงก์รวมด้านล่างนี้ได้เลยครับ เขียนไว้ละเอียดมากและเหมาะกับมือใหม่มาก ๆ ครับ