ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากสื่อต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น อีเมล บล็อก และโปรแกรมสนทนา มีทั้งข้อมูลที่เชื่อถือได้และข้อมูลที่หลอกลวง ผู้รับข้อมูลต้องรู้จักใช้ข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ ตรวจสอบ ประเมินความถูกต้องของข้อมูล โดยพิจารณาได้จากผู้เผยแพร่ วันที่เผยแพร่ และการอ้างอิงแหล่งข้อมูล การเลือกใช้แหล่งข้อมูลที่ไม่เหมาะสมหรือมีการบิดเบือน อาจทำให้ข้อสรุปที่ได้ผิดพลาดหรือชี้นําผิดทาง นอกจากนี้อาจทำให้เกิดอันตรายและสร้างความเสียหายในรูปแบบต่าง ๆ ได้ โดยหลักในการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล ควรพิจารณา ดังนี้
ประเมินความน่าเชื่อถือและความทันสมัยของสารสนเทศ
2.1 ประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งสารสนเทศ โดยพิจารณาว่าสารสนเทศนั้นได้ มาจากแหล่งสารสนเทศใด โดยส่วนใหญ่ แหล่งสารสนเทศที่น่าเชื่อถือนั้นจะเป็นแหล่งสารสนเทศสถาบัน เช่น ห้องสมุด เนื่องจากสารสนเทศที่อยู่ในห้องสมุดได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองเนื้อหาจาก บรรณารักษ์และผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนแหล่งสารสนเทศอินเทอร์เน็ต จะมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าหรือไม่มีความน่าเชื่อเลย คือ การรับรู้สารสนเทศจากอินเทอร์เน็ตนั้นเราต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง เนื้อหาเองว่าเนื้อหาจากเว็บไซต์ใดที่น่าเชื่อถือ
2.2 ประเมินความน่าเชื่อถือของ ทรัพยากรสารสนเทศ โดย พิจารณาว่า ทรัพยากรสารสนเทศหรือสารสนเทศนั้น ๆ เป็นรูปแบบใด สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อไม่ตีพิมพ์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสิ่งพิมพ์ประเภทใด หนังสือทั่วไป หนังสืออ้างอิง วารสาร นิตยสาร เป็นต้น
2.3 ประเมินความน่าเชื่อถือของ ผู้เขียน ผู้จัดทำ สำนักพิมพ์ โดยพิจารณาว่า ผู้เขียนมีคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ตรงหรือสอดคล้องกับเรื่องที่เขียนหรือไม่ รวม ทั้งความน่าเชื่อถือผู้จัดทำ สำนักพิมพ์ที่มีประสบการณ์ในเนื้อหาเฉพาะด้าน มักจะมีความน่าเชื่อถือในแวดวงวิชาการนั้น ๆ หน่วยงานผู้รับผิดชอบเป็นภาครัฐบาล องค์กร สมาคม มักจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าหน่วยงานภาคเอกชนหรือบุคคล ตัวอย่าง เช่น กรณีที่เป็นบท ความวิชาการ ให้พิจารณาว่า ตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อวารสารที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชานั้น ๆ มีชื่อเสียงในทางวิชาการ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายหรือไม่ ผู้เขียน/ผู้จัดทำ/สำนักพิมพ์มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และต้องมีความต่อเนื่องในการเผยแพร่
2.4 ประเมินความทันสมัยของสารสนเทศ โดยหากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์พิจารณาความทันสมัย จาก วัน เดือน ปี ที่พิมพ์ หากเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พิจารณาจาก วัน เดือน ปีที่เผยแพร่ เป็นต้น
แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
เมื่อเราต้องการข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในงานด้านต่างๆ เราสามารถค้นหาข้อมูลได้จากแหล่งข้อมูลรอบตัวที่มีอยู่มากมาย และควรเลือกค้นหาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นแหล่งที่มีการรวบรวมข้อมูลอย่างมีหลักเกณฑ์ มีเหตุผล และมีการอ้างอิง จึงให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ตัวอย่างแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีดังนี้
- เจ้าของข้อมูล เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆสามารถให้ข้อมูลได้ถูกต้องตรงความเป็นจริงมากกว่าบุคคลอื่นที่รับฟังข้อมูลมาเล่าต่อ ซึ่งอาจจดจำมาผิด และอาจเสริมเติมแต่งทำให้ข้อมูลผิดเพื้ยนไปได้
ตัวอย่าง : เจ้าของข้อมูล เช่น คุณพ่อเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่เคยพบในอดีต
- หน่วยงานหรือผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นหน่วยงาน บุคคลที่ทำงานหรือศึกษาค้นคว้าในด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้มีความรู้จากประสบการณ์ในการทำงานหรือการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ลึกซึ้ง จึงมีข้อมูลที่ถูกต้องตรงความเป็นจริง
ตัวอย่าง : หน่วยงานหรือผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น องค์การนาซ่า ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวงโคจรของดาวหาง แพทย์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโรค เจ้าของฟาร์มสุนัขหรือสัตวแพทย์เขียนหนังสือให้ข้อมูลการเลี้ยงสุนัขที่ถูกวิธี
- หน่วยงานของรัฐเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลซึ่งมีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ เนื่องจากข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐจะถูกนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย วางแผน ลงมือปฏิบัติงาน และใช้อ้างอิง จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องมีการรวบรวม เก็บรักษา หรือสร้างข้อมูลขึ้นอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงความเป็นจริงเสมอ
ตัวอย่าง : แหล่งข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงศึกษาธิการให้ข้อมูลที่อยู่ของโรงเรียนทั่วประเทศผ่านทางเว็บไซต์
ใช้หลักการ PROMPT
- Presentationการนำเสนอข้อมูลต้องชัดเจน ตรงตามเนื้อหา กระชับ
- Relevance การพิจารณาความสัมพันธ์ ความสอดคล้องของข้อมูลกับสิ่งที่ต้องการ
- Objectivity ข้อมูลที่นำมาใช้ต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ไม่มีเจตนาแอบแฝง หรือเป็นข้อมูลที่แสดงความคิดเห็น
- Method มีการวางแผนการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ
- Provenance มีการระบุแหล่งที่มาของข้อมูลอย่างชัดเจน เชื่อถือได้
- Timeliness ข้อมูลต้องเป็นปัจจุบัน ทันสมัย
การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มาของข้อมูล
เว็บไซต์หรือแหล่งที่มาของข้อมูลต้องบอกวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์อย่างชัดเจน
การนำเสนอเนื้อหาต้องตรงตามวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือเผยแพร่ข้อมูลของเว็บไซต์
เนื้อหาของเว็บไซต์ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายศีลธรรมและจริยธรรม
มีการระบุชื่อผู้เขียนบทความหรือผู้ให้ข้อมูลบนเว็บไซต์
มีการอ้างอิงแหล่งที่มาหรือแหล่งต้นตอของข้อมูลที่มีเนื้อหาปรากฏบนเว็บไซต์
สามารถเชื่อมโยง (Link)ไปเว็บไซต์ที่อ้างอิงเพื่อตรวจสอบแหล่งต้นตอของข้อมูลได้
มีการระบุวันเวลาในการเผยแพร่ข้อมูลบนว็บไซต์
มีการให้ที่อยู่หรืออีเมลที่ผู้อ่านสามารถติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ได้
มีช่องทางให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็น
มีข้อความเตือนผู้อ่านให้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจใช้ข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์
การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของของข้อมูล CRAAP
- ความทันสมัยของข้อมูล (currency) ควรตรวจสอบว่าข้อมูลเผยแพร่เมื่อใด สำรวจและปรับปรุงเมื่อใด นอกจากนี้ในปัญหาที่สนใจ ควรตรวจสอบว่าสามารถใช้ข้อมูลที่เผยแพร่นานมาแล้วได้หรือไม่
- ความสอดคล้องกับการใช้งาน (relevance) ควรตรวจสอบว่าข้อมูลเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ต้องการหรือไม่
- ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล (authority) พิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ผู้เผยแพร่มีความชำนาญพอที่จะให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวหรือไม่สามารถติดต่อผู้เผยแพร่ได้หรือไม่
- ความถูกต้องแม่นยำ (accuracy) ตรวจสอบความถูกต้องพื้นฐานของข้อมูล ตรวจสอบว่ามีการนํา ข้อมูลไปอ้างอิงที่อื่น หรือไม่ หรือมีการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูลหรือไม่
- จุดมุ่งหมายของแหล่งข้อมูล (purpose) ตรวจสอบว่าข้อมูลดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป้าหมายใด เช่น เพื่อใช้ในการรณรงค์ เผยแพร่เพื่อการโฆษณา หรือเพื่อการศึกษาอื่น ๆ
ที่มา
สุเมศ ชาแท่น “การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล” จากเว็บไซต์ https://sites.google.com/ site/teacherreybanis1/ngan-xdirek-laea-khwam-samarth-phises/bth-thi-7-kar-trwc-sxb-khwam-na-cheux-thux-khxng-khxmul เมื่อวันที่ 05 พฤษภาคม 2563
ครูไอที “การประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล” จากเว็บไซต์ https://kru-it.com/computing-science-p5/credibility/