พลเมืองดิจิทัล

เทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ม.6

               เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของเราทุกคนเราจึงต้องเรียนรู้เข้าใจและตระหนักว่าจะปฏิบัติตนบนโลกออนไลน์อย่างไรถึงจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้คุ้มค่า ปลอดภัย ตลอดจนเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ป้องกันและปกป้องข้อมูลของตนและผู้อื่น จากการที่ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญในการปลูกฝังลักษณะการเป็นพลเมืองดิจิทัล Digital  Citizenship  ให้แก่เยาวชนเพื่อใช้ชีวิตในโลกจริงและโลกออนไลน์ได้อย่างสมดุลในปี พ.ศ. 2562 ไมค์ ริบเบิล (Mike Ribble) ได้ปรับปรุงกรอบแนวคิดในการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี โดยแบ่งเป็น 3 ด้านได้แก่ การมีความรู้ทางเทคโนโลยีและการแบ่งปันความรู้ให้กับผู้อื่น Savvy  การป้องกันตนเองและผู้อื่น Safe และการเคารพตนเองและผู้อื่นในสังคมออนไลน์ Social กรอบแนวคิดนี้จึงเป็นประโยชน์ในการสร้างแนวปฏิบัติของการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี

การรู้ทันดิจิทัล Digital literacy

              ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเล็ต โปรแกรมคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสื่อสาร การปฏิบัติงาน และการทำงานร่วมกัน หรือ ใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน หรือระบบงานในองค์กรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยทักษะต่าง ๆ นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตในสังคมยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่นับวันจะมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราเข้าใจและใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ ใช้ความรู้ด้านไอทีให้ได้มากกว่าแค่ความบันเทิงก็จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0  

ทักษะที่สำคัญของ Digital Literacy

              การใช้ (Use) คือทักษะและความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรมประมวลผลคำ (Word processor) เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) อีเมล (e-mail) และเครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ ไปสู่เทคนิคขั้นสูงขึ้นสำหรับการเข้าถึงและการใช้ความรู้ เช่น โปรแกรมที่ช่วยในการสืบค้นข้อมูล หรือ เสิร์ชเอนจิน (Search Engine) และฐานข้อมูลออนไลน์ รวมถึงเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ เช่น Cloud Computing และ Internet of Things (IoT)

               การเข้าใจ (Understand) คือทักษะที่ทำให้เราเข้าใจบริบทและประเมินสื่อดิจิทัล เพื่อให้สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับอะไรที่ทำและพบบนโลกออนไลน์ เป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นเมื่อเริ่มเข้าสู่โลกออนไลน์ ทำให้เข้าใจและตระหนักว่าเทคโนโลยีเครือข่ายมีผลกระทบต่อพฤติกรรม ความเชื่อและความรู้สึกเกี่ยวกับโลกรอบตัวของเราอย่างไร เราควรพัฒนาทักษะการจัดการสารสนเทศเพื่อค้นหา ประเมิน และใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อติดต่อสื่อสาร ประสานงานร่วมมือ และแก้ไขปัญหา

               การสร้าง (Create) คือทักษะในการผลิตเนื้อหาและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพผ่านทางสื่อดิจิทัลประเภทต่างๆ การสร้างเนื้อหาด้วยสื่อดิจิทัลเป็นมากกว่าการรู้วิธีการใช้โปรแกรมประมวลผลคำหรือการเขียนอีเมล แต่ยังรวมถึงความสามารถในการดัดแปลงสื่อสำหรับผู้ชมที่หลากหลาย ความสามารถในการสร้างและสื่อสารด้วยการใช้ Rich Media เช่น ภาพ วิดีโอและเสียง ตลอดจนความสามารถในการมีส่วนร่วมกับ Web 2.0 อย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ เช่น การเขียน Blog การแชร์ภาพหรือวิดีโอ รวมถึงการใช้ Social Media รูปแบบต่างๆ

การเป็นพลเมืองดิจิทัลนั้น มีทักษะสำคัญ 8 ประการ ที่ควรบ่มเพาะให้เกิดขึ้นกับพลเมืองดิจิทัลทุกคนในศตวรรษที่ 21 ดังนี้

  1. ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง (Digital Citizen Identity)
    ต้องมีความสามารถในการสร้างสมดุล บริหารจัดการ รักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเองไว้ให้ได้ ทั้งในส่วนของโลกออนไลน์และโลกความจริง โดยตอนนี้ประเด็นเรื่องการสร้างอัตลักษณ์ออนไลน์ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ทำให้บุคคลสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวตนต่อสังคมภายนอก โดยอาศัยช่องทางการสื่อสารผ่านเว็บไซต์เครือข่ายสังคมในการอธิบายรูปแบบใหม่ของการสื่อสารแบบมีปฏิสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการแสดงออกเกี่ยวกับตัวตนผ่านเว็บไซต์เครือข่ายสังคมต่างๆ
  2. ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management)
    ดุลพินิจในการบริหารจัดการข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลออนไลน์เพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวทั้งของตนเองและผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องประกอบอยู่ในพลเมืองดิจิทัลทุกคน และพวกเขาจะต้องมีความตระหนักในความเท่าเทียมกันทางดิจิทัล เคารพในสิทธิของคนทุกคน รวมถึงต้องมีวิจารณญาณในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลตนเองในสังคมดิจิทัล รู้ว่าข้อมูลใดควรเผยแพร่ ข้อมูลใดไม่ควรเผยแพร่ และต้องจัดการความเสี่ยงของข้อมูลของตนในสื่อสังคมดิจิทัลได้ด้วย
  3. ทักษะในการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี (Critical Thinking)
    ความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ผิด ข้อมูลที่มีเนื้อหาดีและข้อมูลที่เข้าข่ายอันตราย รู้ว่าข้อมูลลักษณะใดที่ถูกส่งผ่านมาทางออนไลน์แล้วควรตั้งข้อสงสัย หาคำตอบให้ชัดเจนก่อนเชื่อและนำไปแชร์ ด้วยเหตุนี้ พลเมืองดิจิทัล จึงต้องมีความรู้ความสามารถในการเข้าถึง ใช้ สร้างสรรค์ ประเมิน สังเคราะห์ และสื่อสารข้อมูลข่าวสารผ่านเครื่องมือดิจิทัล ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ด้านเทคนิคเพื่อใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ได้อย่างเชี่ยวชาญ รวมถึงมีทักษะในการรู้คิดขั้นสูง เช่น ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ที่จำเป็นต่อการเลือก จัดประเภท วิเคราะห์ ตีความ และเข้าใจข้อมูลข่าวสาร มีความรู้และทักษะในสภาพแวดล้อมดิจิทัล การรู้ดิจิทัลโดยมุ่งให้เป็นผู้ใช้ที่ดี เป็นผู้เข้าใจบริบทที่ดี และเป็นผู้สร้างเนื้อหาทางดิจิทัลที่ดี ในสภาพแวดล้อมสังคมดิจิทัล
  4. ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management)
    ทักษะในการบริหารเวลากับการใช้อุปกรณ์ยุคดิจิทัล รวมไปถึงการควบคุมเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างโลกออนไลน์และโลกภายนอก นับเป็นอีกหนึ่งความสามารถที่บ่งบอกถึง ความเป็นพลเมืองดิจิทัล ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ขาดความเหมาะสมย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม ทั้งความเครียดต่อสุขภาพจิตและเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางกาย ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สินเพื่อใช้รักษา และเสียสุขภาพในระยะยาวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
  5. ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์ (Cyberbullying Management)
    จากข้อมูลทางสถิติล่าสุด สถานการณ์ในเรื่อง Cyber bullying ในไทย มีค่าเฉลี่ยการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 47% และเกิดในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ การด่าทอกันด้วยข้อความหยาบคาย การตัดต่อภาพ สร้างข้อมูลเท็จ รวมไปถึงการตั้งกลุ่มออนไลน์กีดกันเพื่อนออกจากกลุ่ม ฯลฯ ดังนั้น ว่าที่พลเมืองดิจิทัลทุกคน จึงควรมีความสามารถในการรับรู้และรับมือการคุกคามข่มขู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างชาญฉลาด เพื่อป้องกันตนเองและคนรอบข้างจากการคุกคามทางโลกออนไลน์ให้ได้
  6. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ (Digital Footprints)
    มีรายงานการศึกษาวิจัยยืนยันว่า คนรุ่น Baby Boomer คือ กลุ่ม Aging ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 – 2505 มักจะใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้อื่น และเปิดใช้งาน WiFi สาธารณะ เสร็จแล้วมักจะละเลย ไม่ลบรหัสผ่านหรือประวัติการใช้งานถึง 47% ซึ่งเสี่ยงมากที่จะถูกผู้อื่นสวมสิทธิ ขโมยตัวตนบนโลกออนไลน์ และเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น ความเป็นพลเมืองดิจิทัล จึงต้องมีทักษะความสามารถที่จะเข้าใจธรรมชาติของการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล ว่าจะหลงเหลือร่องรอยข้อมูลทิ้งไว้เสมอ รวมไปถึงต้องเข้าใจผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการดูแลสิ่งเหล่านี้อย่างมีความรับผิดชอบ
  7. ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ (Cybersecurity Management)
    ความสามารถในการป้องกันข้อมูลด้วยการสร้างระบบความปลอดภัยที่เข้มแข็งและป้องกันการโจรกรรมข้อมูลไม่ให้เกิดขึ้นได้ ถ้าต้องทำธุรกรรมกับธนาคารหรือซื้อสินค้าออนไลน์ เช่น ซื้อเสื้อผ้า ชุดเดรส เป็นต้น ควรเปลี่ยนรหัสบ่อยๆ และควรหลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ และหากสงสัยว่าข้อมูลถูกนำไปใช้หรือสูญหาย ควรรีบแจ้งความและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
  8. ทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (Digital Empathy)
    ความสามารถในการเห็นอกเห็นใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นบนโลกออนไลน์ พลเมืองดิจิทัลที่ดีจะต้องรู้ถึงคุณค่าและจริยธรรมจากการใช้เทคโนโลยี ต้องตระหนักถึงผลพวงทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต การกดไลก์ กดแชร์ ข้อมูล ข่าวสาร ออนไลน์ รวมถึงรู้จักสิทธิและความรับผิดชอบออนไลน์ อาทิ เสรีภาพในการพูด การเคารพทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น และการปกป้องตนเองและชุมชนจากความเสี่ยงออนไลน์ เช่น การกลั่นแกล้งออนไลน์ ภาพลามกอนาจารเด็ก สแปม เป็นต้น

การซื้อสินค้าออนไลน์

               ปัจจุบันการซื้อของออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก  เพราะทั้งสะดวกสบาย รวดเร็ว กดสั่งของ จ่ายเงิน นอนรอของมาส่งที่บ้านง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอน สบายกว่าออกไปเดินตามหาร้านค้าให้ยุ่งยาก แต่เพราะว่าความกำลังเป็นที่นิยม มิจฉาชีพเลยฉวยโอกาสทองนี้ออกกลโกงต่างๆ มากมายมาหลอกให้ผู้ซื้อเชื่อใจ ตัดสินใจซื้อสินค้า และท้ายที่สุดก็ได้เงินไปใช้ฟรีๆ โดยผู้เสียหายคือเหล่านักช้อปออนไลน์นั่นเอง

                โดยวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงจากกลโกงของมิจฉาชีพง่าย ๆ มีดังนี้

  1. ความน่าเชื่อถือของร้าน

ประการแรกที่จะตัดสินใจซื้อของนอกจากตัวสินค้าแล้วก็คงเป็นร้านค้าว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ทั้งช่องทางการติดต่อ รายละเอียดการลงขายสินค้าว่ามีข้อมูลชัดเจนหรือไม่  ถ้าอยากให้ปลอดภัยมากขึ้นให้ดูว่าร้านค้าได้จดทะเบียนพาณิชย์สำหรับร้านค้าออนไลน์หรือไม่

  1. ของถูกใช่ว่าจะดีเสมอไป

บางครั้งการโกงไม่ได้ในรูปแบบที่โอนเงินแล้วไม่ส่งของ แต่กลับมาในรูปแบบของคุณภาพแทน  จริงอยู่ที่ว่าขายของถูกกว่าร้านอื่น แต่คุณภาพอาจจะต่างกันมากๆ  ไม่แน่คุณอาจจะถูกย้อมแมวขายก็เป็นได้ หรือ ของที่คุณซื้อมาอาจจะเป็นของปลอมก็ได้  แต่กรณีเช่นนี้พบได้ทั้งสินค้าในราคาถูกหรือราคาแพง จึงต้องตรวจสอบให้ดีก่อนสั่งซื้อ

  1. คุณสมบัติที่ไม่เกินจริงจนเกินไป

ปัจจุบันเราต่างตกเป็นทาสโฆษณาที่สร้างมาให้เราคล้อยตามได้ง่าย เราจึงจำเป็นต้องดูคุณสมบัติของสินค้าให้ดีว่าจริงแท้เพียงใด ของบางอย่างกล่าวเกินจริงไปหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขาย อีกประการคือต้องดูเรื่องความปลอดภัยด้วย โดยเฉพาะเครื่องสำอาง ครีม อาหารเสริม ยาบำรุง ที่มักมีโฆษณาเกินจริงและอาจส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้  

  1. เช็กประวัติร้านค้าให้ดี

นอกจากดูว่าร้านค้ามีความน่าเชื่อถือแล้ว ประวัติการขายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน พวกมิจฉาชีพมักจะเปลี่ยนชื่อร้าน เปลี่ยนสินค้าที่ขายไปเรื่อยๆ ไม่อยู่กับของชิ้นใดชิ้นหนึ่งนานๆ ดังนั้นหากซื้อสินค้าจากร้านที่เปิดใหม่ก็ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

  1. ดูรีวิวจากลูกค้าที่เคยสั่ง

การตอบรับจากลูกค้าที่เคยซื้อของจากร้านก็เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจได้ดี นอกจากจะลดความเสี่ยงในการโดนโกงแล้ว ยังให้เราทราบถึงการบริการของร้านค้าด้วยว่าเป็นอย่างไร เช่น บางร้านค้าอาจหุ้มห่อสินค้าไม่ดี ทำให้เวลาของมาถึงมือผู้ซื้อ สินค้าเกิดเสียหาย เราก็สามารถดูได้จากรีวิวที่ผ่านๆมา

  1. เช็กให้ดีก่อนจะโอน

ร้านค้ามักให้เลขบัญชีหรือช่องทางการชำระเงินเมื่อเราตัดสินใจจะซื้อสินค้าชิ้นนั้นแล้ว แต่อย่าเพิ่งใจร้อน รีบโอน กลัวว่าไม่ได้ใช้เงิน ทางที่ดีควรเอาชื่อบัญชีและเลขบัญชีไปเช็กในอินเทอร์เน็ตเสียก่อน ว่าบุคคลนี้มีประวัติการโกงหรือไม่เพื่อความปลอดภัยก่อนจะเสียเงินไปฟรีๆ

  1. เก็บหลักฐานไว้ อย่าให้หาย

หลังจากโอนเงินเรียบร้อยและรอของที่สั่งมาส่ง ควรเก็บหลักฐานในการสั่งซื้อ หลักฐานการโอนเงิน หลักฐานการชำระเงิน หรือแคปเจอร์หน้าจอประวัติการสนทนาซื้อขายไว้ให้ครบ เผื่อว่าในอนาคตอาจจำเป็นต้องใช้  และอีกอย่างที่สำคัญคือ ชื่อ-นามสกุล เลขบัญชีของผู้ขาย ชื่อของร้านค้า หรือทางที่ดีควรขอเบอร์ติดต่อและให้ร้านค้าถ่ายรูปบัตรประชาชนให้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐานหากเกิดการโกงขึ้น