มารยาทในการติดต่อสื่อสาร

เทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ม.2

การติดต่อสื่อสารผ่านบริการบนอินเทอร์เน็ตมีความหลากหลายและมีผู้ใช้งานจำนวนมาก มีทั้งแบบผู้ใช้สื่อสารส่วนตัว สื่อสารในกลุ่ม หรือสื่อสารสาธารณะจึงควรมีมารยาทและปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม มีการจำกัดกลุ่มสนทนาให้อยู่ในกลุ่มสมาชิกที่เกี่ยวข้องและใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

มารยาทในการใช้อีเมล์

  • ใช้ภาษาสุภาพ ชัดเจน ตรงประเด็น เหมาะสมกับกาลเทศะหรือผู้ที่จะสื่อสารด้วย
  • ใช้อักษรตัวหนาเฉพาะข้อความที่ต้องการเน้นเท่านั้น
  • ระบุหัวเรื่อง ชื่อผู้ที่จะสื่อสารด้วย และระบุตัวตนของผู้ส่งอีเมลให้ชัดเจน (เหมือนกับการเขียนจดหมายด้วยกระดาษ)
  • ระบุชื่อหรือตำแหน่งของผู้ที่จะสื่อสารให้ถูกต้องและเหมาะสม
  • เนื้อหาในอีเมลไม่ควรมีข้อความแสดงถึงเจตนาไปในทางเสื่อมเสีย ไม่ใช้ข้อความที่กำกวม ข้อความที่แสดงการตำหนิ ดูถูก ใส่ร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย
  • หลีกเลี่ยงการส่งอีมลและการแนบไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ ให้ใช้การส่งลิงก์หรือโปรแกรมในการโอนถ่ายไฟล์แทน
  • ไม่ลักลอบส่งอีเมลโดยการปลอมแปลงชื่อผู้ส่งที่ทำให้ผู้รับเข้าใจผิด
  • ไม่ส่งต่ออีเมลลูกโซ่ (chain e-mail) เช่น อีเมลลวงให้ส่งต่อไปหลาย ๆ คนแล้วจะได้รับผลประโยชน์
  • ไม่ส่งอีเมลขายสินค้า โฆษณา หรือข้อความที่รบกวนผู้รับ

มารยาทในการใช้แชทและเครือข่ายสังคม

  • ไม่ใช้ข้อความที่เป็นชนวนก่อให้เกิดปัญหาระหว่างบุคคลและกลุ่ม
  • หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์หรือความรู้สึกที่มากจนเกินไปทั้งในการอ่านหรือแสดงความคิดเห็น
  • ไม่สวมรอยหรือแอบอ้างโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นในการแชท แสดงความคิดเห็น หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
  • ไม่ใช้ถ้อยคำยั่วยุหรือท้าทาย เพื่อแสดงความเห็น หรือความคิดที่ขัดแย้งกับผู้อื่น

ข้อควรระวัง การใช้งานห้องสนทนาควรใช้ภาษาสุภาพเพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจตามมา เพราะผู้ใช้อาจไม่ทราบว่าคนที่รับข้อความต่าง ๆ นั้นเป็นใคร อาชีพใดหรืออยู่ในช่วงอายุใดนอกจากนี้ยังต้องตระหนักว่าการใช้ห้องสนทนาอาจมีมิจฉาชีพแฝงอยู่ และอาจมีการสื่อสารล่อลวงทำให้เกิดการหลงเชื่อและนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมได้ ดังนั้นผู้ใช้ห้องสนทนาจำเป็นต้องระมัดระวังและมีความรอบคอบในการใช้งาน