ข้อมูลที่เราได้มานั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของจำนวน และมีเป็นจำนวนมาก แม้ว่าการตอบคำถามที่เราสนใจ หรือสิ่งที่เราอยากจะนำเสนอ จะมีอยู่แล้วในข้อมูลเหล่านั้น แต่ยากที่จะทำความเข้าใจ หรือไม่อาจสื่อสารได้โดยง่ายสมมติว่าบริษัทนำเที่ยวแห่งหนึ่งต้องการที่จะเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาประเทศไทย เช่น การเตรียมไกด์นำเที่ยว การเตรียมสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับชาติต่าง ๆ ทางบริษัทจึงนำข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ
แผนภูมิรูปวงกลม (Pie chart)
แผนภูมิรูปวงกลม (Pie chart) คือ แผนภูมิที่แสดงด้วยรูปวงกลม โดยแบ่งวงกลมออกเป็นส่วนๆ จากจุดศูนย์กลางของวงกลม เป็นการนำเสนอที่ต้องการเปรียบเทียบปริมาณของข้อมูล ซึ่งพื้นที่ในวงกลมแทนปริมาณของข้อมูลต่าง ๆ นิยมคิดข้อมูลให้อยู่ในรูปร้อยละ
แผนภูมิรูปวงกลม นิยมใช้เมื่อต้องการเปรียบเทียบจำนวนย่อยๆกับจำนวนทั้งหมด พร้อมกับเปรียบเทียบจำนวนย่อยๆด้วยกันเอง เหมาะแก่การนำเสนอข้อมูลจำนวนร้อยละ (เปอร์เซ็นต์) มากกว่าแผนภูมิแบบอื่น ๆ
การนำเสนอข้อมูลด้วย แผนภูมิรูปวงกลม ซึ่งเป็นแผนภูมิที่แสดงด้วยวงกลม โดยการแทนปริมาณข้อมูลทั้งหมดด้วยพื้นที่ในวงกลมหนึ่งวง และแบ่งพื้นที่ในวงกลมจากจุดศูนย์กลางออกเป็นส่วนของวงกลมย่อย ๆ ตามส่วนของปริมาณที่นำเสนอ แล้วเขียนตัวเลขแสดงข้อมูลกำกับไว้
แผนภูมิแท่ง (Bar Chart)
แผนภูมิแท่ง คือ แผนภูมิที่ประกอบด้วย แกนสองแกน คือแกนนอนและแกนตั้ง และรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความกว้างของแต่ละรูปเท่ากัน ส่วนความยาวจะแปรตามขนาดของข้อมูล เรียกรูปสี่เหลี่ยมแต่ละรูปนี้ว่า แท่ง (bar) การนำเสนอข้อมูลอาจจัดให้แท่งแต่ละแท่งอยู่ในแนวตั้ง หรือแนวนอนก็ได้ โดยวางเรียงให้ชิดกันหรือห่างกันเล็กน้อยเท่าๆ กันก็ได้ พร้อมทั้งเขียนรายละเอียดของแต่ละแท่งกำกับไว้ นอกจากนี้ เพื่อความสวยงาม อาจจะใช้วิธีแรเงาหรือระบายสี เพื่อให้ดูสวยงามและสะดวกในการศึกษาเปรียบเทียบ
ข้อมูลที่เหมาะสำหรับการใช้แผนภูมิแท่งในการนำเสนอข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลที่จำแนกตามคุณภาพ ตามกาลเวลา และตามภูมิศาสตร์
แผนภูมิแท่งจำแนกได้หลายประเภท ได้แก่ แผนภูมิแท่งเชิงเดียว แผนภูมิแท่งเชิงซ้อน แผนภูมิแท่งส่วนประกอบ แผนภูมิแท่งบวก-ลบ แผนภูมิแท่งซ้อนกัน แผนภูมิแท่งปิระมิด ในชั้นนี้จะกล่าวถึงแผนภูมิแท่งเชิงเดียวและแผนภูมิแท่งเชิงซ้อนเท่านั้น
1) แผนภูมิแท่งเชิงเดียว หมายถึง แผนภูมิที่ใช้สำหรับข้อมูลชุดเดียว และแสดงลักษณะของข้อมูลที่สนใจ เพียงลักษณะเดียว เช่น ความถี่ จำนวนเงิน จำนวนภาษี มูลค่าการส่งออก เป็นต้น
2) แผนภูมิเชิงซ้อน หมายถึง แผนภูมิแท่งที่แสดงการเปรียบเทียบของข้อมูลสองชุดขึ้นไป หรือเปรียบเทียบลักษณะของข้อมูลที่เราสนใจตั้งแต่สองลักษณะขึ้นไป บนแกนเดียวกัน เช่น เปรียบเทียบรายรับรายจ่าย เปรียบเทียบจำนวนนักเรียนชายกับจำนวนนักเรียนหญิง เป็นต้น
กราฟเส้น (Line Graph)
รูปแบบการนำเสนอข้อมูล ที่ประกอบไปด้วยจุดและส่วนของเส้นตรงที่ลากเชื่อมต่อจุดซึ่งจุดแต่ละจุด และจุดแต่ละจุดคือการแสดงจำนวนหรือปริมาณของข้อมูลแต่ละรายการ ทั้งหมดนี้เรียกว่า กราฟเส้น ซึ่งกราฟเส้นนิยมใช้กับข้อมูลที่แสดงการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตามลำดับก่อนหลังของเวลา
แผนผังการกระจาย (Scatter Diagram)
แผนผังการกระจาย (Scatter Diagram) คือ แผนผังที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ตัวที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการผลิต ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไรในสถิติ ข้อมูลที่เกิดจะเป็นจุดของการกระจายตัวของข้อมูล 2 ชุด ซึ่งอาจกระจายในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กันหรือไม่สัมพันธ์กันก็ได้ ความสัมพันธ์ยังอาจมีทิศทางและระดับที่แตกต่างกันออกไปก็ได้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการควบคุมกระบวนการให้ได้คุณภาพตามที่กำหนด
การเลือกใช้แผนภาพ
ชนิดของแผนภาพ | จุดประสงค์ของการนำเสนอ |
แผนภูมิรูปวงกลม | แสดงสัดส่วนของข้อมูลที่มีจำนวนกลุ่มไม่มากนัก |
แผนภูมิแท่ง | เปรียบเทียบปริมาณข้อมูลแต่ละรายการ |
กราฟเส้น | แสดงการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลที่มีความต่อเนื่อง |
แผนภาพการกระจาย | แสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล 2 ชุด |