เรามักเข้าใจผิดว่าระเบียบวินัยหมายถึงการลงโทษ แต่การศึกษาพบว่าโรงเรียนที่มีระเบียบวินัยดีคือ โรงเรียนที่ใช้การลงโทษน้อย และพบว่าการลงโทษบ่อยเป็นวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดระเบียบวินัย
Rutter (1983) ได้ศึกษาว่า ระเบียบวินัยที่อิงความเป็นกลุ่ม (group-based) และมีมาตรฐานที่ชัดเจนจะช่วยให้นักเรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่โรงเรียนคาดหวัง การทำให้กฏมีความศักดิ์สิทธิ์ ครูทั่วไปควรสามารถจัดการกับนักเรียนที่กระทำความผิดได้ทันทีโดยไม่ต้องให้ครูอาวุโสมาจัดการที่หลัง
มีการศึกษาเพิ่มว่า การใช้วิธีการที่รุนแรง เช่น ตีหรือตบ หรือใส่กุญแจมือนักเรียนยิ่งมีผลเลวร้ายต่อนักเรียน และส่งผลให้นักเรียนมีความประพฤติที่แย่ลง แม้การตีจะเป็นสิ่งที่ไม่ผิดโดยหลักการ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ส่งผลดี ก่อให้เกิดทุรกรรมและการหนีเรียนมากขึ้น โรงเรียนที่พยายามควบคุมกฎเกณฑ์ต่างๆ ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ (ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่) นักเรียนจะหนีเรี่ยนมากขึ้น (Hyman, 1998)
จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า โรงเรียนจำเป็นต้องมีวิธีการส่งเสริมให้เกิดระเบียบวินัยที่มีประสิทธิภาพ เพราะการใช้การลงโทษที่มากเกินไปก่อให้เกิดความประพฤติที่ก้าวร้าวหนีเรียนมากขึ้น และสร้างบรรยากาศที่ไม่ดี แน่นอนว่าการลงโทษและการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ในที่สุดวินัยที่ดีจะต้องเกิดขึ้นจากนักเรียนส่วนใหญ่ที่ต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษามากกว่าจะเกิดจากความกลัวว่าจะถูกลงโทษ
การฝึกวินัยคือการพัฒนาการเข้าสังคมที่ได้ผลอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการสร้างบรรยากาศของสังคมซึ่งให้ความรักและเอาใจใส่ในชั้นเรียน การฝึกวินัยมิใช่มุ่งเน้นการลงโทษ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กกำหนดกฎเกณฑ์ร่วมกับโรงเรียน และพร้อมที่จะปฏิบัติตาม มีการใช้ระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎซึ่งอยู่ในบรรยากาศของความรักกฎซึ่งตั้งอยู่บนหลักการของคุณธรรมและการเคารพผู้อื่น เช่น เราจะไม่ใช้เสียงรบกวนผู้อื่นในขณะที่ผู้อื่นกำลังเรียน ไม่ไช่กฎที่ครูตั้งขึ้นมาเองหรือสั่งมาจากเบื้องบนโดยไม่มีความหมายเช่น “ฉันบอกให้เงียบ เธอก็ต้องเงียบ ” เมื่อเด็กละเมิดกฎก็ต้องฝึกวินัย โดยให้เด็กเข้าใจวัตถุประสงค์เบื้องหลังของกฎ แก้ไขในสิ่งผิด และมีความรับผิดชอบ (Rutter,1983) (Baker ,1998)