ภาวะผู้นำทางวิชาการที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียนในยุคดิจิทัล

BLOG การศึกษา เด่น

บทคัดย่อ

         ยุคดิจิทัลเทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากในการดำเนินชีวิตของเราในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมรวมไปถึงด้านการศึกษาซึ่งในการจัดการกับเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เกิดผลที่ดี ผู้บริหารสถานศึกษาจำเป็นต้องมีภาวะผู้นำทางวิชาการที่จะนำสถานศึกษาให้สามารถผนวกเข้ากับยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีบทบาท คือ การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ งานพัฒนาและส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้  การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา  การประเมินผลเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน การนิเทศการศึกษา งานพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในและมาตรฐานการศึกษา โดยผู้บริหารจะต้องเป็นแกนนำในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในสถานศึกษา ส่งเสริม สนับ ผู้สอนให้สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้และองค์ประกอบของภาวะผู้นำทางวิชาการที่ผู้บริหารจะต้องมีเพื่อที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายและพันธกิจการเรียนรู้ ส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาชีพของครู  นิเทศติดตามและประเมินผลการสอนของครู การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องมีแนวทางที่ดีในการนำมาใช้และส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียนมากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถอยู่ในสังคมในยุคดิจิทัลได้อย่างมีความสุข และสามารถยกระดับการศึกษาของประเทศให้สูงขึ้นอีกด้วย

 

คำสำคัญ : ภาวะผู้นำ / ภาวะผู้นำทางวิชการ / บทบทของภาวะผู้นำทางวิชาการ / องค์ประกอบของภาวะผู้นำทางวิชาการ / การเปลี่ยนผ่านการเรียนรู้จากยุคดั้งเดิมสู่ยุคดิจิทัล / ผู้เรียนในยุคดิจิทัล / ผู้บริหารและครูในยุคดิจิทัล / แนวทางการบริหารโรงเรียนในยุคดิจิทัล / ภาวะผู้นำทางวิชาการที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียน

บทนำ

         ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทให้ด้านต่าง ๆ มากมาย ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต คือเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ กำลังมีบทบาทอย่างกว้างขวางในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การบริการ สังคม สิ่งแวดล้อมไปจนถึงด้านการศึกษา และในขณะที่สังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่มิติใหม่ เทคโนโลยีสารสนเทศนับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำสมัยมีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเพราะเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ กุญแจสำคัญที่ไขไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพตามความต้องการของประเทศ และเนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต การทำงาน การเรียน และเล่น ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งส่งผลต่อคุณสมบัติในการเป็นเทคโนโลยีที่สามารถสอดแทรก และเสริมสร้างสมรรถนะในกิจกรรมและการดำเนินการต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้สังคมไทยในปัจจุบันจึงกลายเป็นสังคม เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information society) ไม่ว่าบุคคลจะอยู่ในอาชีพใด วัยใดก็ตาม จำเป็นต้องได้รับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพรวมทั้งพัฒนาสังคมและประเทศชาติ จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology – IT) มีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติเพื่ออำนวยความสะดวกทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงานเป็นอย่างมาก ในด้านการศึกษาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในเรื่องของการบริหารจัดการ ดังนั้นผู้ที่จะต้องเป็นกำลังสำคัญคือ ผู้บริหารสถานศึกษาที่จะต้องนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการบริหารจัดการสถานศึกษาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิชาการ ซึ่งการจัดการด้านวิชาการจะส่งผลโดยตรงกับประสิทธิภาพการศึกษาของผู้เรียน ดังนั้นถ้าหากว่าผู้บริหารมีกระบวนการจัดการกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่เข้ามายังไม่พึงประสงค์มากนัก อาจจะส่งผลที่ไม่เหมาะสมกับต้นทุนที่เสียไป ทำให้จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเรียนรู้การนำเทคโนโลยีไปใช้ในด้านวิชาการต่อไป

ความหมายของภาวะผู้นำ

ความหมายของภาวะผู้นำได้มีนักบริหาร นักวิชาการให้ความหมายไว้อยากหลากหลาย ดังนี้

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) (2546 : 25) ภาวะผู้นำหมายถึง คุณสมบัติ เช่น สติปัญญาความดีงาม ความรู้ความสามารถของบุคคล ที่ชักนำให้คนทั้งหลาย มาประสานกันและพากันไปสู่จุดหมายที่ดีงาม

รังสรรค์ ประเสริฐศรี (2544 : 31) ได้กล่าวว่า ภาวะผู้นำ หมายถึง พฤติกรรมส่วนตัวของบุคคลหนึ่งที่จะชักนำกิจกรรมของกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน หรือเป็นความสัมพันธ์ที่มีอิทธิพลระหว่างผู้นำกับผู้ตาม ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุจุดหมายร่วมกัน หรือเป็นความสามารถที่จะสร้างความเชื่อมั่นและให้การสนับสนุนบุคคลเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์การ ผู้นำเป็นบุคคลที่ทำให้องค์การประสบความก้าวหน้าและบรรลุผล

ภาวิดา ธาราศรีสุทธิ (2547 : 5) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับภาวะผู้นำว่า ภาวะผู้นำนั้นเป็นศิลปะในการใช้อิทธิพลของผู้นำ เพื่อจูงใจผู้ร่วมงานให้ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ด้วยความร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มใจ

Ivancevich and Matteson (2002 : 425) นิยามความหมายว่า ภาวะผู้นำ เป็นกระบวนการของการใช้อิทธิพลต่อผู้อื่นเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการดำเนินงานขององค์การ

Yukl (2002) กล่าวว่า ภาวะผู้นำ หมายถึง พฤติกรรมส่วนตัวของบุคคลคนหนึ่งที่จะชักนำกิจกรรมของกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน

Likert (1964: 237-238) ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำไว้ว่า คือ แบบภาวะผู้นำที่ต้องมีเทคนิคและทักษะในการจัดการที่ดี และจะต้องมีจิตวิทยาในการจัดการเกี่ยวกับความสัมพันธ์

Bass (1985:130-139) ได้ยกตัวอย่างว่า หากกล่าวถึงความหมายของภาวะผู้นำในเชิงกลุ่มการพูดอภิปราย ภาวะผู้นำ คือ การที่บุคคลสามารถริเริ่มประเด็นวางแผนและจัดลำดับการพูด ให้ความกระจ่าง ตั้งคำถาม กระตุ้นการแสดงความคิดเห็นสรุปประเด็นต่าง ๆ ที่นำมาซึ่งข้อสรุปในการอภิปรายดังนั้น ผู้นำ คือ บุคคลที่ใช้วลามากที่สุดในการอภิปรายในกลุ่ม เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีบทบาทดังที่ได้กล่าวข้างต้นมากที่สุด

 

ภาวะผู้นำมีความหมายอย่างหลากหลายซึ่งสรุปได้ว่า ภาวะผู้นำ เป็นคุณสมบัติ เทคนิค พฤติกรรม ทักษะที่ดีที่ผู้นำใช้ในการชักนำ จูงใจ ประสานกลุ่มคนให้มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายเดียวกันด้วยความร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มใจ

ความหมายของภาวะผู้นำทางวิชาการ

         ภาวะผู้นำทางวิชาการคนส่วนใหญ่จะเห็นว่าเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนแต่ในความเป็นจริงถ้าผู้บริหารมีภาวะผู้นำทางวิชาการที่ดีก็จะส่งต่อภาวะผู้นำทางวิชาการของครูผู้สอนด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและเกิดผลที่ดีสำหรับผู้เรียนด้วย และภาวะผู้นำทางวิชาการได้มีผู้ให้ความหมายไว้ ดังนี้

          ไกศิษฏ์ เปลรินทร์ (2552) ภาวะผู้นำทางวิชาการ หมายถึง พฤติกรรมของผู้บริหารโรงเรียนที่มีอิทธิพลต่อการเพิ่มพูนการเรียนรู้ของนักเรียนโดยอาศัยกระบวนการเกี่ยวกับการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายเละพันธกิจการเรียนรู้ การบริหารจัดการหลักสูตรและการสอน การพัฒนานักเรียน การพัฒนาครู และการส่งเสริมบรรยากาศสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมการเรียนรู้

          สิร์รานี วสุภัทร (2551 : 29) ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา หมายถึง การแสดงบทบาทหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ของผู้บริหารสถานศึกษาที่สามารถโน้มน้าว จูงใจ หรือชี้นำให้บุคลากรในสถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้องเข้าใจและตระหนักในจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา รวมพลัง และประสานสัมพันธ์กันเพื่อให้งานวิชาการซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนและคุณภาพของผู้เรียน อันเป็นภารกิจหลักของสถานศึกษาบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

Glickman (2000 : 131) ภาวะผู้นำทางวิชาการ คือการบูรณาการของงานเพื่อให้การช่วยเหลือโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานักเรียน การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนาหลักสูตร

Girvin (2001 : 1) ผู้บริหารในฐานะผู้นำทางวิชาการว่าผู้บริหารถือเป็นแกนกลางของความพยายามในฐานะผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ผู้จัดระเบียบองค์การ ผู้นำและผู้ประเมิน เพื่อเป็นการรับประกันความก้าวหน้าทางวิชาการของโรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำให้นักเรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้สูงขึ้น

McEwan (2003 : 6) ภาวะผู้นำทางวิชาการ คือภาวะผู้นำที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อกระบวนการเรียนการสอน ประกอบด้วยครูผู้สอน นักเรียนและหลักสูตร มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

Coleman และ Adams (1997 : 194-200) หลักสำคัญของการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำทางวิชาการประกอบด้วยหลักสำคัญ 3 ประการดังนี้ 1) เป็นผู้ที่มีความรู้ 2) มีความเข้าใจในภาระงานและ 3) มีทักษะที่เหมาะสม การเป็นผู้ที่มีความรู้ในที่นี้ หมายถึง มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษา กลวิธีการสอน การบริหารงานวิชาการ และการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรรู้คือ ความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญา ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและจุดอ่อนจุดแข็งของนักปรัชญแต่ละคน การมีความเข้าใจ ภาระงานของผู้นำทางวิชาการประกอบด้วยการกำกับดูแล นิเทศ และประเมินผลการจัดการเรียน

 

จากความหมายของภาวะผู้นำทางวิชาการ จึงสรุปได้ว่า ภาวะผู้นำทางวิชาการ หมายถึง พฤติกรรมของผู้บริหารสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และการกำหนดข้อตกลงร่วมกันระหว่างครูและนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน การพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนและการสอนของครูโดยใช้การแลกเปลี่ยนความรู้ทั่วทั้งองค์กร มีความหลากหลายในรูปแบบการพัฒนาและประเมินผลการพัฒนาบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของกรูและนักเรียน และความสัมพันธ์กับชุมชน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ความสำเร็จของโรงเรียน พัฒนาการเรียนการสอนเพื่อปรับปรุงคุณภาพกระบวนการเรียนการสอนของครูและผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน 

บทบาทของภาวะผู้นำทางวิชาการ

          กระทรวงศึกษาธิการ (2546) ได้กำหนดกรอบงานด้านวิชาการเพื่อกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษาให้มีความอิสระ คล่องตัว รวดเร็วและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนสถานศึกษา ชุมชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีขอบข่ายและภารกิจดังนี้ 1) การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา 2) การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ 3) การวัดผล ประเมินผลและเทียบโอนผลการเรียน4) การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา 5) การพัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา 6) การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ 7) การนิเทศการศึกษา 8) การแนะแนวการศึกษา 9) การพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา 10) การส่งเสริมความรู้ด้านวิชาการแก่ชุมชน 11) การประสานความร่วมมือในการพัฒนาวิชาการกับสถานศึกษาอื่นและ 12) การส่งเสริมและสนับสนุนงานวิชาการแก่บุคคล ครอบครัว องค์กร

          สุรพงศ์ สุทธิศักดา (2551) ความเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา หมายถึง ความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้บริหารสถานศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการ 5 ด้าน ประกอบด้วยงานพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา งานพัฒนากระบวนการเรียนรู้ งานพัฒนาและส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้ งานนิเทศการศึกษา งานพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในและมาตรฐานการศึกษา

          สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา (2547) ได้จัดทำหลักสูตรผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพ โดยกำหนดลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพไว้ในส่วนการเป็นผู้นำด้านวิชาการ ในเรื่องต่อไปนี้ 1) การพัฒนาหลักสูตรเพื่อความเป็นเลิศ 2) การพัฒนารูปแบบกระบวนการเรียนรู้ 3) การพัฒนาครูตามแนวปฏิบัติการศึกษา 4) การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพ และ 5) การประเมินผลเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

          จากบทบาทของภาวะผู้นำทางวิชาการ สรุปได้ดังนี้

          1. การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เป็นการจัดทำหลักสูตร การปรับปรุง การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้ดีขึ้น เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของบุคคล และสภาพสังคม

          2. การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เป็นกระบวนการในการวิเคราะห์ผู้เรียนในเพื่อศึกษาผู้เรียนรายบุคคลและจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน ตลอดจนผู้ที่มีความสามารถพิเศษและผู้ที่มีความบกพร่องหรือด้อยโอกาส โดยฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์การประยุกต์ใช้ความรู้ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงและการปฏิบัติจริง สร้างสถานการณ์ตัวอย่าง

          3. งานพัฒนาและส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาทุกระดับ/ ประเภทให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพและพัฒนาแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ สำหรับการศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ, 2552:21)

4. การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา การวิจัยในชั้นเรียนเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ครูใช้ค้นคว้าหาความจริงเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในชั้นเวียนอย่างเป็นระบบ เพื่อสืบค้นสภาพที่เป็นจริง หาสาเหตุของปัญหา แสวงหาวิธีแก้ปัญหาเชิงพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ของครู อันเป็นผลต่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และยังเป็นกระบวนการที่ใช้ตรวจสอบผลสำเร็จของการใช้นวัตกรรมการสอนที่ครูพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ได้รับการพัฒนาตามวัยอย่างเต็มศักยภาพ

5. การประเมินผลเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน สถานศึกษาต้องมีการประเมินผลผลการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนต่อไป

6. งานนิเทศการศึกษา เป็นกระบวนการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยความร่วมมือระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ ตามแนวทางของประชาธิปไตยที่เน้นการให้ความช่วยเหลือ แนะนำ และผู้รับการนิเทศยอมรับเพื่อประสิทธิภาพของการจัดการศึกษา การนิเทศการศึกษามีความจำเป็นในการพัฒนาผู้สอนให้ทันสมัยอยู่เสมอ ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ และยังเป็นวิธีที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร

 

7. งานพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในและมาตรฐานการศึกษา เป็นระบบที่สถานศึกษาร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การกำกับ ดูแลและสนับสนุนส่งเสริมของหน่วยงานต้นสังกัด   เพื่อสร้างความมั่นใจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักวิชา ข้อมูลหลักฐาน ที่ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า ผู้เรียนทุกคนจะได้รับบริการด้านการศึกษาที่มีคุณภาพจากสถานศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่กำหนดในมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

องค์ประกอบของภาวะผู้นำทางวิชาการ

         Doll (1974 : 196-197) กล่าวว่าองค์ประกอบของภาวะผู้นำทางวิชาการ คือ 1) เอาใจเขามาใส่ใจเรา 2) เป็นคนกระฉับกระเฉง  3) ได้รับการยอมรับจากสมาชิกว่าเป็นสมาชิกของกลุ่ม 4) เป็นคนกระฉับกระเฉง 5) เป็นพูดที่ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ 6) เป็นผู้ที่มีสติปัญญา 7) เป็นผู้มีบทบาทการเป็นผู้นำของตนเอง

          Knezevick (1984 : 17-18) ได้ให้องค์ประกอบของภาวะผู้นำทางวิชาการ ไว้ดังนี้ 1) ความสามารถในการกำหนดทิศทางการปฏิบัติงาน (Direction Setter) 2) ความสามารถในการกระตุ้นภาวะผู้นำ (Leader Catalyst) 3) ความสามารถในการเป็นนักวางแผน (Planner) 4) ความสามารถในการตัดสินใจ (Decision Maker) 5) ความสามารถในการเป็นผู้จัดองค์การ (Organizer) 6) ความสามารถในการเป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change Manager) 7) ความสามารถในการเป็นผู้ประสานงาน (Coordinator) 8) ความสามารถในการเป็นผู้สื่อสาร (Communicator) 9) ความสามารถในการแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict Manager) 10) ความสามารถในการเป็นผู้แก้ปัญหา (Problem Manager) 11) ความสามารถในการเป็นผู้วิเคราะห์และจัดระบบ (System Manager) 12) ความสามารถในการเป็นผู้บริหารการเรียนการสอน (Instructional Manager) 13) ความสามารถในการบริหารงานบุคคล (Personal Manager) 14) ความสามารถในการบริหารทรัพยากร (Resource Manager) 15) ความสามารถในการบริหารทรัพยากร (Resource Manager) 16) ความสามารถในการเป็นนักประชาสัมพันธ์ (Public Relator) 17) ความสามารถใน ภาวะผู้นำในงานสังคม (Ceremonial Head)

          ไกศิษฏ์ เปลรินทร์ (2552) ได้ศึกยาการพัฒนาตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำทางวิชาการสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้แบบสอบถามกับผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 1-4 รวมทั้งทำการทบทวนวรรณกรรมทฤษฎีและงานวิจัย พบว่า องค์ประกอบของภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 1 – 4 ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลัก 15 องค์ประกอบย่อยดังนี้ องค์ประกอบหลักการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายและพันธกิจการเรียนรู้ องค์ประกอบหลักการบริหารจัดการหลักสูตรและการสอน องค์ประกอบหลักการพัฒนานักเรียน องก์ประกอบหลักการพัฒนาครู องค์ประกอบหลักการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้

          กัญญ์รัชการย์ นิลวรรณ (2553) ได้ทำการศึกษาองค์ประกอบภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา ในสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานกร ที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียน โดยกำหนคองค์ประกอบภาวะผู้นำทางวิชาการออกเป็น 7 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบด้านมุมมองต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร การประเมินผลนักเรียน การจัดโครงการค้นการรับเด็กพิเศษ การประเมินผลการสอนของครู การวางแผนเพื่อพัฒนาความก้าวหน้ทางวิชาชีพ การใช้ภาวะผู้นำทางวิชาการ การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ จากการศึกษาพบว่าภาวะผู้นำทางวิชาการส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียน มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ เท่ากับ .001 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.0

          รักษิต สุทธิพงษ์ (2560) องค์ประกอบสมรรถนะภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มี 5 องค์ประกอบได้แก่ 1) ผู้นำในการริเริ่มใช้นวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอน 2) วิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง 3) ส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาชีพของครู 4) นิเทศติดตามและประเมินผลการสอนของครู 5) จัดบรรยากาศเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการของโรงเรียน

          องค์ประกอบของภาวะผู้นำทางวิชาการได้มีผู้ศึกษาไว้อย่างกว้างขวาง และได้สรุปไว้ดังนี้

          1) การกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายและพันธกิจการเรียนรู้

ผู้บริหารมีการกําหนดเป้าประสงค์ของโรงเรียน ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา มีความสามารถในการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ในการจัดการศึกษาของโรงเรียน มีส่วนร่วมกับครูในการกำหนดพันธกิจ และเป้าหมายทางการศึกษา โดยอาศัยข้อมูลจากภายในและภายนอกโรงเรียน มีบทบาทในการเป็นผู้นําในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ และปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีความเจริญอย่างรวดเร็ว

          2) ส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาชีพของครู

ผู้บริหารมีการพัฒนาทักษะการวิจัย สนับสนุนด้านการพัฒนาวิชาชีพครู เป็นนักวางแผน นำเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการวางแผนเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ในวิชาชีพ มีการจัดสรรเวลาเพื่องานวิชาการร่วมกับครูไว้อย่างชัดเจน และช่วยเหลือครูในการพัฒนาระบบงาน เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ทั้งนี้เป็นเพราะการวิจัยในชั้นเรียนเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนในชั้นเรียน ทำให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน ทั้งนี้ต้องอาศัยครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู

3) นิเทศติดตามและประเมินผลการสอนของครู

ผู้บริหารสังเกตการสอนของครู และให้ข้อมูลป้อนกลับ ให้ความช่วยเหลือ สะท้อนผลการจัดการเรียนการสอน และประเมินผลการจัดการเรียนรู้ของครู ส่งเสริมให้ครูใช้ข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ ร่วมทำงานกับครูในการวิเคราะห์ข้อมูลประมินการเรียนของนักเรียนเพื่อนำไปใช้ในการสอน และผู้บริหารมีการสนับสนุนให้ครูมองสะท้อนการจัดการเรียนการสอนของตนเอง ทั้งนี้เป็นเพราะการนิเทศติดตาม เป็นการกำกับดูแลคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูให้เป็นไปตามแผนการเรียนการสอนที่กำหนดไว้โดยผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ให้คำปรึกษา และให้ความช่วยเหลือครูด้านการสนับสนุนงบประมาณในการจัดการเรียนการสอน

4) การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้

ผู้บริหารสนับสนุน และส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการของโรงเรียน ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารส่งเสริมบรรยากาศด้านการเรียนรู้ของนักเรียนโดยการให้รางวัล และการให้การยอมรับนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ด้านวิชาการสูง และ ผู้บริหารสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนการสอน ทั้งนี้เป็นเพราะการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพจะต้องเกิดจากความสนใจของผู้เรียนในบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้โดยผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้อำนวยความสะดวก และครูได้จัดรูปแบบการเรียนรู้ หรือแหล่งเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ตามศักยภาพ เพื่อให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนและเกิดบรรยากาศในการแข่งขันทางวิชาการในสถานศึกษา 

การเปลี่ยนผ่านการเรียนรู้จากยุคดั้งเดิมสู่ยุคดิจิทัล

อติพร เกิดเรือง (2560) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านการเรียนรู้จากยุคดั้งเดิมสู่ยุคดิจิทัล ดังนี้

ตารางที่ 1 การเปลี่ยนผ่านการเรียนรู้จากยุคดั้งเดิมสู่ยุคดิจิทัล

 

การเรียนรู้ยุคดั้งเดิม

การเรียนรู้ยุคดิจิทัล

1. การหาความรู้จากโรงเรียนเพื่อให้เกิด เฉพาะความรู้
ทักษะ และความสามารถ

1. การเรียนต้องศึกษาตลอดชีวิตเพื่อพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ ให้
เกิดทักษะและสามารถประยุกต์ใช้ได้

2. ความสามารถของคนเป็นความสามารถคงที่ไม่ต้องการ
เปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย เพียงประยุกต์ใช้ความสามารถให้สอดคล้องกับสถานการณ์

2. ความสามารถของคนต้องเรียนรู้ตลอดเวลามากขึ้น ต้อง
สามารถวางแผน พัฒนา วิจัย และนำาไปใช้ได้จริง

3.ความรู้จากห้องเรียนสามารถใช้ได้เพียง 10 ปี การศึกษา
เริ่มต้นจากวัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย

3. ความรู้ที่ได้จากการเรียนต้องไม่หยุดนิ่ง มีการร่วมกัน
จัดการศึกษาจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้าง
แนวทางการศึกษารูปแบบใหม่ขึ้นมาที่ไม่ใช่เรียนที่บ้านหรือ
โรงเรียนอีกต่อไป

4. การศึกษามีการเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ ครู คณาจารย์ที่มีอายุมาก มักรู้สึกว่าเทคโนโลยีคือ ภัยคุกคามความสุขของตนเองแต่ยังมีความสุขกับการสอนแบบเดิม ๆ ซึ่งมีการแข่งขันที่น้อยและสอนด้วยการจดบันทึกบนกระดานและจบลงด้วยการจดลงบนสมุดของผู้เรียน

4. การศึกษามีการจัดสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาเป็นแบบสมัยใหม่ มีการจัดแหล่งความรู้ด้วยข้อมูลจำนวนมากเพื่อการค้นคว้าด้วยตนเอง มีระบบอินเทอร์เน็ตให้ใช้งานได้ทุกคนละการนำาเทคโนโลยีมาเปลี่ยนหลักการพื้นฐานในการเรียนการสอนในห้องเรียน

5. การพัฒนาของสถานศึกษายังไม่ค่อยใส่ใจเรื่อง
การแข่งขัน เป็นการพัฒนาความรู้เฉพาะด้านมากกว่าพัฒนาให้เกิดขึ้น ขาดการทำงานเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน มีการกระจัดกระจายทางความคิดและการทำงาน
การเรียนรู้ร่วมกัน จนทำาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

5. การพัฒนาของสถานศึกษาควรเน้นให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แบ่งปันมุมมอง ความรู้ คุณค่า และประสบการณ์ มีการปรับตัวและพัฒนาให้เกิด

6. ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ซ้ำ ๆผ่านชอล์กและ
การเขียนกระดาน หรือเสนอผ่านพรีเซ็นเตชั่นแบบการสอน
ทางเดียว

6. ครูเป็นผู้ช่วยคอยชี้แนะ เป็นผู้นำาทางและสนับสนุนให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้เกิดแรงปรารถนาในการเรียนรู้ ครูและนักเรียนเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีห้องสมุดดิจิทัลในการสนับสนุน โดยไม่ต้องไปพิพิธภัณฑ์ ห้องจัดแสดงทางวิทยาศาสตร์ ไม่จำาเป็นต้องออกห้องเรียน ครูมีหน้าที่กระตุ้นให้กำาลังใจและให้คำแนะนำาในการสอน

7. ยังมีข้อจำากัดในการเข้าถึง ข้อมูลสารสนเทศจากห้องสมุดแต่สวนสัตว์ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อ
การเรียนรู้ ยังเป็นทางเลือกหนึ่งของเด็ก ๆ ที่อยู่ห่างไกลและต้องการศึกษาเรียนรู้จากสภาพจริง

7. ระบบการศึกษาต้องเชื่อมต่อเข้ากับทางด่วนสารสนเทศ
อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเร่งอัตราการเติบโตของข้อมูลและ
เทคโนโลยีในทุกแขนงได้อย่างแท้จริง

8. สถานศึกษาแยกตัวเป็นเอกเทศเมื่อถึงเวลาเลิกเรียน ครู
และผู้เรียนต่างคนต่างกลับบ้าน ขาดการเชื่อมโยงกันตลอด
เวลา

8. สถานศึกษาพัฒนาระบบเทคโนโลยีเชื่อมโยงระบบ
คอมพิวเตอร์ในทุกหนทุกแห่งในสถานศึกษา โดยร่วม
ดำาเนินงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ด้านเทคโนโลยีแทนที่จะรองบประมาณจากรัฐ

9. หลักสูตรและเนื้อหาการเรียนการสอน ต้องค้นคว้าศึกษา
จากตำาราเรียนเท่านั้น

9. หลักสูตรการเรียนการสอนสามารถจัดเนื้อหาความรู้
ทักษะชีวิต ศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ ผ่านระบบเครือ
ข่ายและส่งต่อไปยังฐานข้อมูลที่อยู่ภายนอกได้

10. การวัดผลและประเมินผล ยังมุ่งที่จะประเมินความรู้ ที่
เกิดจากการเรียนการสอนในห้องเรียนเท่านั้น
การประเมินที่หลากหลาย และให้ความสำคัญต่อ

10. การวัดผลและประเมินผล มุ่งให้ครูและผู้เรียนร่วมกัน
กำาหนดแนวทางในการประเมิน เน้น การประเมินเพื่อพัฒนามากกว่าการประเมินเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์

ผู้เรียนในยุคดิจิทัล

 

Nuanchan Jutapakdeekul (2015) ผู้เรียนในยุคดิจิทัล (digital generation) เป็นกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1995 จนถึงปัจจุบัน เกิด เติบโตและคุ้นเคยกับเทคโนโลยียุคดิจิทัล เรียกว่า ชาวดิจิทัลโดยกำเนิด (digital native) ต่างจากผู้บริหารสถานศึกษาและครูรวมทั้งพ่อแม่ที่เกิดก่อนยุคดิจิทัล เป็นผู้ที่รับเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เป็นคนกลุ่มที่อพยพเข้ามาสู่ยุคดิจิทัล (digital immigrant) ที่จะคุ้นเคยกับสื่อและเทคโนโลยียุคดิจิทัลเมื่อสมองพัฒนาเต็มที่แล้ว

Ian Jukes (2007) ผู้เรียนในยุคดิจิทัลมีความจำเกี่ยวกับภาพ (visual memory) และประมวลผลข้อมูลจากภาพได้ดีกว่าข้อความตัวหนังสือ ชอบมองภาพที่มีสีสันสดใสมากกว่าสีมืด ๆ ทึบ ๆ ชอบการเรียนรู้ผ่านรูปภาพ คลิปวิดีโอที่มีภาพเคลื่อนไหว (visual learner) และรับรู้ความรู้สึกจากการเคลื่อนไหวร่างกาย (kinesthetic learner) มากกว่าเรียนรู้จากการฟังครูสอนหรืออธิบาย (auditory learner) ดังนั้น เด็กเล็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่เป็นแต่คุ้นเคยการใช้สื่อดิจิทัล จึงไม่สนใจการเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ (reading learner) เพราะทำยากกว่าการใช้นิ้วเลื่อนบนหน้าจอมอนิเตอร์หรือการดูคลิปวิดีโอ เป็นผลให้ในระยะยาว เด็กจะตั้งใจเรียนในห้องเรียนน้อยลง และไม่สนใจการเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ 

ผู้บริหารและครูในยุคดิจิทัล

 

Nuanchan Jutapakdeekul (2015) ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้ปกครอง จึงควรเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนยุคดิจิทัล โดยพัฒนาให้ผู้เรียนให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างก่อนการเริ่มใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีการเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เข้าใจ อารมณ์ตนเองและผู้อื่น เอาใจเขา มาใส่ใจเรา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ซึ่งจะท าให้ได้รับการยอมรับทางสังคม (social recognition) รู้สึกมีความสุข มีคุณค่า นำไปสู่ความสำเร็จในการเรียนและการทำงานต่อไป

 

สงบ อินทรมณี (2562) ผู้บริหารในยุคดิจิทัลต้องมีทักษะในการส่งเสริมสนับสนุน ในด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีวิสัยทัศน์ในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่าง ๆ และจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือทางเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อส่งเสริมครู้ให้เรียนรู้ในสิ่งที่อยากรู้ และครูในยุคดิจิทัลต้องมีทักษะเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศ มีความตระหนัก เห็นความสำคัญในการเรียนรู้ มีประเด็นการเรียนรู้ มีทักษะการตั้งคำถามในการเรียนรู้ สามารถหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัล Social Medias ทั้งนี้ ปัญหาการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ส่วนใหญ่เกิดกับครูสูงอายุ ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่จะปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทุกรูปแบบ นอกจากนั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับทักษะการค้นคว้าข้อมูลเทคโนโลยีและสารสนเทศ ด้านการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ Keyword ในการสืบค้นที่ไม่ครอบคลุม ทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกับความต้องการหรือไม่ทราบแหล่งสืบค้นที่มากพอ รวมทั้งการไม่ใช้ภาษาอังกฤษในการสืบค้น ทำให้ได้ข้อมูลที่จำกัด มีปัญหาเกี่ยวกับการประเมินข้อมูล ได้แก่ ความทันสมัย ความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล

แนวทางการบริหารโรงเรียนในยุคดิจิทัล

 

สงบ อินทรมณ (2562) ได้ให้แนวทางการบริหารโรงเรียนในยุคดิจิทัลไว้ดังนี้

          1. การบริหารการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา

              1.1 การกำหนดนโยบายและการส่งเสริมสนับสนุน ผู้บริหารสถานศึกษากำหนดนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้ครอบคลุมภารกิจของสถานศึกษาทุกด้าน

              1.2 การเสริมสร้างพัฒนาภาวะผู้นำ หน่วยงานต้นสังกัดของผู้บริหารสถานศึกษามีการส่งเสริม พัฒนาภาวะผู้นำทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

              1.3 การสร้างวัฒนธรรมสถานศึกษาที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง

              1.4 การส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

              1.5 การจัดการความรู้ในสถานศึกษาผู้บริหารสถานศึกษาบริหารการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในสถานศึกษาโดยกระตุ้น ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดการความรู้ในสถานศึกษา เพื่อเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ สามารถนำองค์กรสู่การเป็นผู้นำ

              1.6 การทำงานอย่างเป็นเครือข่าย ในยุคดิจิทัลปฏิเสธไม่ได้เลยที่จะไม่มีเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

          2. การบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับสถานศึกษา

              2.1 การยอมรับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเข้าใจกระบวนการในการยอมรับเทคโนโลยีเข้ามาในองค์กรทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร

              2.2 การเข้าถึงเทคโนโลยี ผู้บริหารส่งเสริมสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ พร้อมใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลของบุคลากร นักเรียน และสามารถนำมาใช้ในการวางแผนกลยุทธ กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และจุดมุ่งหมายของการศึกษาในโรงเรียน

              2.3 การเสริมสร้างการยอมรับให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารสถานศึกษาส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้ครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษาต่าง ๆ ผู้ปกครองในการพัฒนาและติดตามการจัดการศึกษา

              2.4 เสริมสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ด้วยกันโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้บริหารส่งเสริมให้ครูนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการเรียนรู้และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย

              2.5 การใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนของครูและการศึกษาค้นคว้าของผู้เรียน

 

          3. การนิเทศ ติดตาม ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผู้บริหารมีการนิเทศ ติดตาม การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในโรงเรียน ในการดำเนินงานระบบต่าง ๆ ภายในโรงเรียนเช่น งานวิชาการ งานงบประมาณและแผนงาน งานกิจการนักเรียน รวมทั้งในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ภารกิจของสถานศึกษา และติดตามการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเรียนรู้ของผู้เรียน ส่งเสริม สนับสนุนให้ครูมีผลงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

ภาวะผู้นำทางวิชาการที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียน

 

          สิทธิพร นิยมศรีสมศักดิ์ (2556) กล่าวว่า ภาวะผู้นำทางวิชาการที่มีประสิทธิผลประกอบด้วย 1) การส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพครูทั้งโรงเรียน 2) กำหนดเป้าหมายร่วมกันและสร้างความเข้าใจเป้าหมายนั้น 3) กำกับติดตามและจัดให้มีการสะท้อนผลกระบวนการเรียนการสอน

          นพมาศ  ไทยภักดีและคณะ (2560) ภาวะผู้นำทางวิชาการที่มีประสิทธิผลประกอบด้วย 1) การนิเทศการสอน 2) การบริหารหลักสูตรและการสอน 3) การกำหนดพันธกิจ 4) การกำกับติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน

          ปาลิดา ยงทวี (2559) ได้ให้องค์ประกอบของภาวะผู้นำทางวิชาการที่ส่งผลต่อคุณภาพ1) ด้านการเสริมสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ 2) ด้านการกำหนดภารกิจของโรงเรียน 3) ด้านการบริหารจัดการด้านการเรียนการสอน 4) ด้านการจัดให้มีสิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ 5) ด้านการนิเทศและการประเมินผลการสอนของครู

          ศรีประไพร พลเยี่ยม และ สมใจ ภูมิพันธ์ (2558) ได้ให้องค์ประกอบของภาวะผู้นำทางวิชาการที่ส่งผลต่อคุณภาพ ประกอบด้วย 1) ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา 2) การกำหนดและการสื่อสารเป้าหมายของโรงเรียน 3) การนิเทศและประเมินผลการสอน 4) การใช้หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน 5) การตรวจสอบความก้าวหน้าของผู้เรียน 6) การสร้างมาตรฐานด้านวิชาการและส่งเสริม 7) การพัฒนาวิชาชีพครู

          จากภาวะผู้นำทางวิชาการที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียน สรุปได้ว่า ภาวะผู้นำทางวิชาการที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียนนั้น

          1) การส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพครูทั้งโรงเรียน ประกอบไปด้วย การส่งเสริมให้ครูเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาวิชาชีพที่สอดคล้องกับเป้าหมายของโรงเรียน พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ การใช้เทคโนโลยี ส่งเสริมด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้ครูเข้าร่วมอบรมพัฒนาความรู้ โดยจัดให้มีกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพในโรงเรียนเพื่อไม่ให้ครูละทิ้งห้องเรียน ผู้บริหารต้องวางแผนร่วมกับครูในโรงเรียนในการพัฒนาวิชาชีพครู

          2) การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ผู้บริหารส่งเสริมให้ครูวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันในเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน และรวมกลุ่มครูเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดกับผู้เรียนแล้วกำหนดยุทธศาสตร์ทางวิชาการในภาพรวมของโรงเรียน

          3) การนิเทศและประเมินผลการสอน ผู้บริหารมีบทบาทอย่างมากในการนิเทศและประเมินผลการสอน ซึ่งถ้าหากผู้บริหารมีกระบวนการจัดการการนิเทศและประเมินผลการสอนที่ดี ซึ่งการนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยความร่วมมือระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ ตามแนวทางของประชาธิปไตยที่เน้นการให้ความช่วยเหลือ แนะนำ และผู้รับการนิเทศยอมรับเพื่อประสิทธิภาพของการจัดการศึกษา การนิเทศการศึกษามีความจำเป็นในการพัฒนาผู้สอนให้ทันสมัยอยู่เสมอ ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ และยังเป็นวิธีที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร

          4) การกำกับติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน ในกระบวนการจัดการเรียนรู้การกำกับติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนจะส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียนซึ่งการกำกับติดตามจะทำให้ทราบถึงผลของกระบวนการบริหารของโรงเรียน ที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่ และสามารถนำผลการกำกับติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนมาพัฒนา ปรับปรุง กระบวนการบริหาร การจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สรุป

          การบริหารการศึกษาจะต้องบริหารจัดการให้ครอบคลุมทุกด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิชาการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องมีภาวะผู้นำทางวิชาการในการบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยบทบาทของภาวะผู้นำทางวิชาการ องค์ประกอบของภาวะผู้นำทางวิชาการและปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาจึงต้องยอมรับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการสถานศึกษา และช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศใช้ในสถานศึกษามีแนวทางคือ การบริหารการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา การบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับสถานศึกษา การนิเทศ ติดตาม ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และในการดำเนินงานต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นผลมาจากภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการนำบุคลากรให้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของสถานศึกษาที่กำหนดไว้

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). นโยบายและการแนะแนวการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา.

กัญญ์รัชการย์ นิลวรรณ. (2553). องค์ประกอบภาวะผู้นาทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการจัดการสถานศึกษา สังกัดสานักการศึกษากรุงเทพมหานคร.วิทยานิพนธ์ ปร.ด(สาขาวิชาการบริหารการศึกษาและภาวะผู้นำ)กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น.

กิติศักดิ์ เสนานุช มัณฑนา อินทุสมิต.(2556).การพัฒนาตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำเชิงบริการสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เกิดเรือง, อ. (2017). การส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อรองรับสังคมไทยในยุคดิจิทัล.

ไกศิษฏ์ เปลรินทร์. (2552) การพัฒนาตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำทางวิชาการสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน . มหาวิทยาลัยขอนแก่น/ขอนแก่น.

แช่มช้อย, ส. (2015). ภาวะผู้นำทางเทคโนโลยี: การนำเทคโนโลยีสู่ห้องเรียนและโรงเรียนในศตวรรษที่ 21. 17(4).

ถาวร  เส้งเอียด.(2550). ภาวะผู้นำทางวิชาการ.กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

ไทยภักดี, น. (2561). ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษากับประสิทธิภาพการสอนของครูในโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค.

นิยมศรีสมศักดิ์., ส. (2556). ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน.

 

เปลรินทร์, ไ. (2556). การพัฒนาตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำเชิงบริการสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 8(23).

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (๒๕๔๖). ภาวะผู้นำ : ความสำคัญต่อการพัฒนาคน พัฒนาประเทศ.
กรุงเทพมหานคร: ธรรมสภา

ภาวิดา ธาราศรีสุทธิ. (2550). การจัดและการบริหารงานวิชาการ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยรามคาแหง.

ยงทวี, ป. (2558). การศึกษาภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษา เขต 3 ที่ประสบความสำเร็จ.

รังสรรค์ ประเสริฐศรี. (2544). ภาวะผู้นำ. กรุงเทพมหานคร : บริษัทธนธัชการพิมพ์จำกัด.

ศรีประไพร พลเยี่ยม, ส. ภ. (2558). ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษากับประสิทธิภาพการสอนของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ.

สถาบันพัฒนาความก้าวหน้า. (2553). ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาตามหลักเกณฑ์ใหม่. กรุงเทพฯ:เอส.ผีเอ็น. การพิมพ์.

สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา. (2547) “เอกสารประกอบการสัมมนาประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำหลักสูตรผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพ นครปฐม: โรงพิมพ์ ส. ประจักษ์นครปฐม.

สิร์รานี  วสุภัทร.(2551).ภาวะผู้นำทางวิชาการและสมรรถนะของผู้บริหารสถานศึกษาที่ส่งผลต่อความสำเร็จต่อการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน.ดุษฎีนิพนธ์ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต,สาขาวิชาการบริหารการศึกษา, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สุทธิพงษ์, ร. (2017). การวิเคราะห์องค์ประกอบสมรรถนะภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามการรับรู้ของผู้บริหารและครูในสถานศึกษา.

สุรพงศ์ สุทธิศักดา. (2551). ความเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาตามทัศนะของครูสังกัด เทศบาลนครยะลา. สารนิพนธ์ศษม. สงขลา: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

อินทรมณี, ส. (2019). School Management in Digital Era.

Bass, B.M., 1985. Leadership and performance beyond expectation. New York : Free Press.

Coleman, D. and Adam, R.C. (1997). Establising Construct Validity and Reliability for the NAESP Professional Development Inventory,” Journal of Personal. 10 (3) : 194-200.

Doll, C. Ronald. (1974) Curriculum Improvement. 3rd ed Boston: Allyn and Bacon.

Girvan, N. (2001). Reinterpreting the Caribbean. In B. Meeks & F. Lindahl (Eds.),New Caribbean thought: A reader. Jamaica: University of the West Indies Press.

Glickman, C. (1985). Supervision and instruction: A developmental approach (2″ ed.). Boston:Allyn & Bacon.

lan Jukes, Ted McCain and Bruce Macdonald, (2007). Understanding Digital Children (DKs) Teaching &Learning in the New Digital ” Landscape.”Retrieved Dec. 20,2018, from http://wvde.state.wv.us/principalsinstitute/institute07-08/docs summer/SummerDay04 Jukes–NewDigitalLandscape.pdf.

Knezevich, J. Stephen. (1984). Administration of Public Education. New York: Harper And Row.

Likert, Rensis. (1981). Management Styles And The Human Component. In Leadership on the Job: Guides to Good Supervision. New York : AMACOM.

McEwan, E. K. (1998). Seven Steps to Effective Instructional Leadership.California :Corwin Press, IncMott, R. M. (1972).Organizational Effectiveness. Santa Monica, California: Good YearPublishing Co., Inc.

Nuanchan Jutapakdeekul.(2015). Digital Generation. Encylopedia of Education, Faculty of Education ;Srinakharinwirot University, Vol 50, page 79-83.Retrieved Dec. 20, 2018, from http://ejournals.swu.ac.th/index.php/ENEDU/article/view/6704/6315. [in Thai].

Yukl, G. A. (1998). Leadership in organizations (7th ed.). New Jersey: Prentice-Hall.