องค์ประกอบพื้นฐานของการสื่อสาร
สำหรับองค์ประกอบของการสื่อสารโดยทั่วไปมี 4 ประการ คือ
- ผู้ส่งสาร (Sender)
- สาร (Message)
- ช่องทางการสื่อสารหรือสื่อ (Channel)
- ผู้รับสาร (Receiver)
ก่อนที่จะกล่าวถึงองค์ประกอบของการสื่อสารขอย้อนกลับไปที่ คำว่าการสื่อสารที่แสดงให้เห็นว่าจะต้องมีผู้เกี่ยวข้องอยู่ 2 ฝ่าย คือฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร และอีกฝ่ายทำหน้าที่เป็นผู้รับสาร โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเกี่ยวพันกัน นอกจากนั้นแล้วยังจะต้องมีพาหนะในการนำสารจากผู้ส่งสารไปถึงผู้รับสารด้วย พาหนะที่ว่านี้เราสามารถเรียกง่าย ๆ ว่า สื่อ นั่นเอง
การทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารและผู้รับสารนี้ หากเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลที่มีผู้เข้าร่วมทำการสื่อสารกันเพียง 2 คน ทั้ง 2 ฝ่ายจะทำหน้าที่สลับสับเปลี่ยนกันได้ เช่น ก. พูดคุยอยู่กับ ข. เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในวันที่ 2 มิถุนายน 2539 จากกรณีนี้ทั้ง ก. และ ข. ต่างก็ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารในเวลาที่ใกล้เคียงกัน คือ เมื่อ ก. พูด ข. ฟังก. ก็เป็นผู้ส่งสาร ข. ก็เป็นผู้รับสาร แต่เมื่อ ข. พูดโต้ตอบกลับไป ก. ก็จะเป็นฝ่ายฟังหรือผู้รับสาร แล้ว ข. ก็จะเป็นผู้พูดหรือผู้ส่งสาร ส่วนเรื่องที่ ก. และ ข. พูดคุยกันนั้น ก็คือตัวสาร (Message) และตัวพาหนะที่นำสารไปสู่ทั้ง 2 ฝ่าย ก็คือสื่อ หรือ Channel ซึ่งในที่นี้ถ้าหากเป็นการคุยกันแบบเผชิญหน้าหรือ face to face สื่อที่นำเสียงของผู้ส่งสารไปสู่โสตสัมผัสทางหูของผู้รับสาร ก็คือ อากาศที่อยู่รอบ ๆ ตัวของผู้ที่ทำการสื่อสารกันนั่นเอง อากาศในที่นี้เราถือได้ว่าเป็นสื่อธรรมชาติ แต่ถ้าหากการพูดคุยระหว่าง ก. กับ ข. ไม่ได้เป็นแบบเผชิญหน้า แต่เป็นแบบ Person to Person ตัวต่อตัว โดยเป็นการสนทนากันทางโทรศัพท์ เราก็ยังถือว่าเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลเหมือนกัน แต่พาหนะที่นำสารไปสู่ผู้ที่ทำการสื่อสารกันนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากอากาศเป็นโทรศัพท์นั่นเอง และตัวเครื่องโทรศัพท์นี่เองที่เป็นสื่อหรือช่องทางการสื่อสารที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ไม่ได้เป็นสื่อธรรมชาติอย่างเช่นอากาศ
1. ผู้ส่งสาร (Sender)
ผู้ส่งสาร คือ ผู้เริ่มต้นการสื่อสาร (เริ่มต้นสร้างและส่งสารไปยังผู้อื่น) ในการสื่อสารครั้งหนึ่ง ๆ นั้น ผู้ส่งสารจะทำหน้าที่เข้ารหัส (Encoding) อันเป็นการแปรสารให้อยู่ในรูปของสัญลักษณ์ที่มนุษย์คิดสร้างขึ้นแทนความคิด ได้แก่ ภาษา (ภาษาพูด,ภาษาเขียนหรือวัจนภาษา) และอากัปกิริยาท่าทางต่าง ๆ (อวัจนภาษา) สารที่ถูกเข้ารหัสแล้วนี้จะถูกผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารโดยผ่านทางติดต่อทางใดทางหนึ่ง เช่น ถ้าผู้ส่งสารต้องการส่งสาร ก. ไปถึงผู้รับสารที่อยู่ห่างไกลจากตนอย่างรวดเร็ว ผู้ส่งสารก็อาจเลือกใช้ วิธีโทรเลข โทรศัพท์ จดหมาย ถ้าเป็นปัจจุบันก็อาจใช้โทรสาร ( Facsimile (FAX) ) หรือ E-mail (การสื่อสารผ่านทางจอคอมพิวเตอร์) ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ ดังนั้นโดยทั่วไปแล้ว ในสถานการณ์การสื่อสารหนึ่ง ๆ นั้นผู้ส่งสารจะเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญในการที่จะเป็นผู้เริ่มต้นสื่อสาร ถือเป็นบุคคลแรกที่จะทำให้กระบวนการในการสื่อสารเกิดขึ้น
แต่เนื่องจากการสื่อสารของมนุษย์มีหลายประเภทและหลายระดับ เพราะฉะนั้นจำนวนของผู้ส่งสารจึงอาจจะแตกต่างกันไป เช่น การสื่อสารสาธารณะรูปแบบหนึ่ง คือ การอภิปราย ผู้ส่งสาร อาจมีจำนวนมากกว่า 1 คน และผู้ส่งสารอาจมิได้ส่งสารในฐานะที่เป็นตัวของตัวเอง แต่อาจจะส่งสารในฐานะที่เป็นตัวแทนของหน่วยงาน หรือ สถาบันใดสถาบันหนึ่ง ส่วนในกระบวนการสื่อสารมวลชนผู้ส่งสารก็คือตัวแทนขององค์กรเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชน ซึ่งนอกจากจะส่งสารในฐานะที่เป็นตัวของตัวเองแล้ว ก็ยังต้องมีความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นตัวแทนของสถาบันการสื่อสารมวลชนนั้น ๆ ด้วย
แต่การเป็นผู้ส่งสารไม่ว่าจะในการสื่อสารประเภทและระดับใดก็ตาม ย่อมต้องมีบทบาทและหน้าที่ในการสื่อสารที่สำคัญ คือ
- การมีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารที่แจ่มชัด
- การเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอในเนื้อหาของเรื่องราวที่ตนจะสื่อสารกับผู้อื่น
3.การเป็นผู้มีความพยายามที่จะเข้าใจความสามารถและความพร้อมในการรับสารของผู้ที่ตนสื่อสารด้วย
- การเป็นผู้รู้จักเลือกใช้วิธีการในการสื่อสารให้เหมาะสมกับเรื่อง โอกาสและผู้รับสารของตน
2. สาร (Message)
สาร (Message) คือ เรื่องราวอันมีความหมายและแสดงออกมาโดยอาศัยภาษา หรือสัญลักษณ์ใด ๆ ก็ตามที่สามารถทำให้เกิดการรับรู้ร่วมกันได้ สาร จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ส่งสารเกิดความคิดขึ้น และต้องการจะส่งหรือถ่ายทอดความคิดนั้นไปสู่การรับรู้ของผู้อื่น (ผู้รับสาร) การส่งสารนั้น ก็โดยการที่ผู้ส่งสารแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างเพื่อแทนความคิดที่เกิดขึ้น พฤติกรรมที่ว่านี้ก็เช่น การพูด การเขียน การวาดการแสดงอาการหรือกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ และพฤติกรรมในการแสดงออกซึ่งความคิดนี้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม ย่อมขึ้นอยู่กับทักษะของผู้กระทำทั้งสิ้น
ความสำคัญของสารที่ถูกส่งมาจากผู้ส่งสาร ก็คือ การทำหน้าที่เร้าให้ผู้รับสารเกิดการรับรู้ความหมายและมีปฏิกิริยาตอบสนอง การที่ผู้รับสารจะรับสารที่ถูกส่งมาในรูปของสัญลักษณ์ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า ผู้รับสารมีทักษะในการรับสารมากหรือน้อย ซึ่งทักษะในการรับสารได้แก่ ความสามารถในการคิด พิจารณา ความเข้าใจทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน หากผู้รับสารแสดงพฤติกรรมการรับสาร ตรงกับพฤติกรรมของผู้ส่งสาร เช่น ฟังอ่าน ดู สังเกต แสดงว่าผู้รับสารมีทักษะในการรับสารนั้น โดยทั่วไปประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ
- รหัสของสาร (message codes)
- เนื้อหาของสาร (message content)
- การจัดสาร (message treatment)
1) รหัสของสาร คือ ภาษา (Language) หรือสัญลักษณ์ (symbolic) หรือสัญญาณ (signal) ที่มนุษย์คิดขึ้นเพื่อใช้แสดงออกแทนความคิดเกี่ยวกับบุคคลและสรรพสิ่งต่าง ๆ เราสามารถแบ่งรหัสของสารออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- รหัสของสาร ที่ใช้คำพูด (verbal message codes) รหัสของสารที่ใช้คำพูด ได้แก่ ภาษาอันเป็นระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์ ได้พัฒนาขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ภาษาทุกภาษาของมนุษย์มีการสร้างขึ้นและถูกพัฒนาสืบทอดมาโดยลำดับเป็นระบบสัญลักษณ์ที่ทำให้สารปรากฎขึ้นได้
- รหัสของสารที่ไม่ใช้คำพูด (nonverbal message codes) ส่วนรหัสของสารที่ไม่ใช้คำพูด ได้แก่ ระบบสัญลักษณ์ สัญญาณ หรือเครื่องหมายใด ๆ ก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ถ้อยคำ เช่น อากัปกิริยา ธง ไฟ เป็นต้น
ซึ่งมนุษย์ในแต่ละสังคมแต่ละวัฒนธรรมพัฒนาขึ้น และรับรู้ความหมายร่วมกัน เช่น การพยักหน้า แสดงอาการตอบรับหรือแสดงความเข้าใจหรือเห็นด้วย แม้แต่ธงหรือไฟสัญญาณต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เป็นรหัสของสารที่ไม่ใช้คำพูดทำหน้าที่เป็นการบอกเรื่องราวที่มนุษย์ตกลงรับรู้ความหมายร่วมกัน
2) เนื้อหาของสาร ที่มนุษย์สื่อสารกันนั้นครอบคลุมถึงความรู้และประสบการณ์ของมนุษย์ ที่มนุษย์ต้องการที่จะถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเพื่อความเข้าใจร่วมกัน ดังนั้น เมื่อพูดถึงเนื้อหาของสารแล้วจะมีขอบเขตกว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเราอาจแบ่งเนื้อหาของสารได้เป็น 3 ประเภท คือ
- สารประเภทข้อเท็จจริง ได้แก่ สารที่รายงานให้ทราบถึงความจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกทางกายภาพ และอยู่ในวิสัยที่มนุษย์จะตรวจสอบได้ถึงความแน่นอนถูกต้องของสารนั้น ถ้าพิสูจน์ตรวจสอบแล้วสารนั้นเป็นจริง สารนั้นก็จัดได้ว่าเป็นสารที่มีคุณภาพควรแก่การเชื่อถือ
- สารประเภทข้อคิดเห็น ได้แก่ สารซึ่งเกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจจากการประเมินของผู้ส่งสาร อาจเป็นความรู้สึก แนวคิด ความเชื่อที่บุคคลมีต่อตนเองต่อบุคคลอื่น ต่อวัตถุ หรือต่อเหตุการณ์ใด ก็ตาม สารประเภทนี้เป็นสารที่ไม่อยู่ในวิสัยที่จะถูกตรวจสอบได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ อาจทำได้เพียงแค่การประเมินความน่ารับฟัง ความสมเหตุสมผล ตลอดจนความเป็นไปได้ของสารนั้นเท่านั้น เพราะต่างคนต่างก็มีความคิด มีความรู้สึก อารมณ์ ต่อวัตถุ เรื่องราว หรือ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป สารประเภทนี้มักพบเห็นตามสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ เพราะเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้สื่อข่าว หรือผู้ทำข่าว ที่แค่เพียงเอาไมโครโฟนไปจ่อปากผู้ให้สัมภาษณ์แล้วถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ เกี่ยวกับคำพูด หรือความคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นต้น ซึ่งสารประเภทนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนผู้รับสารเกิดความสับสนได้ง่าย ว่าเหตุการณ์จริง ๆ หรือเรื่องราวจริง ๆ เป็นอย่างไรกันแน่เพราะบางทีเราอ่านข่าว ฟังข่าว ดูข่าว เราก็อยากรู้เรื่องไปเลย ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เราไม่อยากไปเสียเวลาคิด พิจารณา ใคร่ครวญหรือวิเคราะห์หาหลักฐานหรือเหตุผลอื่น ๆ มาสนับสนุนว่าที่เราอ่านมา ฟังมา หรือดูมานั้น จริงหรือไม่จริงอย่างไร ปัจจุบันเราจะเห็นว่าข่าวที่มีเนื้อหาประเภทความคิดเห็นมาก ตามหน้าสื่อมวลชนทั้งหลาย (อาจเพราะว่าทำง่าย ไม่ต้องศึกษาหรือทำการบ้านมากนัก
อย่างไรก็ตาม แม้สื่อมวลชนทั้งหลายจะพยายามเสนอสารประเภทข้อเท็จจริง หรือ Fact (พูดอะไรมา ก็เสนอหรือลงตามที่เค้าพูด เรื่องที่พูดจริงหรือไม่เราไม่รู้) หรือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ แต่บางทีรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแต่ละครั้งก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือได้ มิหนำซ้ำยังอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้เหมือนกันว่าความจริงคืออะไรกันแน่ เช่น กรณีการฆาตรกรรมผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) – ผอ.แสงชัย สุนทรวัฒน์ ที่สื่อมวลชนประโคมข่าวหรือลงข่าวกันแทบทุกวันในระยะหนึ่งนั้น สื่อมวลชนก็พยายามรายงานความคืบหน้าของข่าวดังกล่าวว่า จับมือปืนยิง ผอ.แสงชัย ได้แล้ว ซึ่งความจริงอาจเป็นแค่การจับได้เพียงผู้ต้องสงสัยแต่ยังไม่ใช่ตัวมือปืน ก็เป็นได้ แต่พอตำรวจจับมาสอบสวน สื่อมวลชนก็นำมาลงหรือนำมาเสนอต่อประชาชนผู้อ่าน ผู้ฟังว่าจับมือปืนได้แล้ว พอเรารับฟังข่าวหรืออ่านข่าว เราก็ต้องตรวจสอบ จากสื่อมวลชนฉบับอื่น ๆ หรือสถานีอื่น ๆ ว่า จับได้จริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการที่สื่อมวลชนจะเสนอข่าวสารให้สมบูรณ์จริง ๆ จึงน่าจะเสนอเนื้อหาของข่าวสารในลักษณะที่เป็น truth (สิ่งที่เป็นจริงหรือความจริงแท้แน่นอน) ด้วย เพราะ truth (เบื้องลึกข้อเท็จจริงที่แท้จริง แก่นจริง ๆ ของเรื่อง) นี้ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นข้อมูลหรือรายละเอียดที่ได้ผ่านการตรวจสอบ หรือการตัดสินกันแล้วอย่างแน่ชัดว่าความจริง คืออะไร (ผู้ลงมือฆ่าเป็นใครกันแน่) โดยมากที่พบเห็นมักจะเป็นประเภทข่าวสืบสวนสอบสวนที่มีการหาข้อมูล หรือหลักฐานมาอ้างอิงถึงความถูกต้องแล้วนั่นเอง ดังนั้น หากเป็นเพียงข้อสงสัย เป็นเพียงการกล่าวหา การนำข้อมูลเหล่านั้นมาเสนอสู่ประชาชน จะต้องระมัดระวังเรื่องการพาดหัวข่าวด้วย เพราะประชาชนอาจเข้าใจผิดพลาดหรือเกิดความสับสนเกิดขึ้นได้
ดังนั้นการเสนอข่าวสารต่าง ๆ ของสื่อมวลชนควรเสนอ Truth ให้มากที่ผ่านมามักเสนอเพียง Fact ข่าวสารปัจจุบันนี้มีแต่ความคิดเห็น ทำให้คนดู คนฟังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วข้อเท็จจริงคืออะไร ประชาชนอยากทราบว่าความจริงคืออะไร สื่อมวลชนจึงควรแสวงหาความจริงมาเสนอด้วย มิใช่เสนอเพียงข้อคิดเห็นของตน ควรจะให้ภูมิหลังของเรื่องนั้นเพื่อให้ผู้รับได้ทราบว่า จริง ๆ แล้วข้อเท็จจริงคืออะไร ไม่ใช่ให้ประชาชนฟังคนนั้นพูดที คนนี้พูดที แต่ไม่ได้เสนอมุมมองที่เป็นข้อเท็จจริงแก่ประชาชนเลย ยิ่งโดยเฉพาะการเสนอข่าวสารในยุคปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก ทำให้คนรู้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น ได้ทราบความเป็นไปในสังคมมากขึ้น สื่อมวลชนก็ยิ่งควรตระหนักถึงเรื่องเนื้อหาของสารให้มากขึ้นด้วย
- สารประเภทความรู้สึก ได้แก่พวกโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน นวนิยาย เรื่องสั้นทั้งหลายแหล่ ที่เป็นการเขียนจากจินตนาการ จากการเพ้อฝัน จากอารมณ์ศิลปินยากที่จะตรวจสอบความจริงแท้แน่นอนของข้อมูลหรือตัวสารเหมือนกัน
ปัจจุบันสื่อมวลชนในกระบวนการสื่อสารมวลชนโดยส่วนใหญ่แล้ว จะมีเนื้อหาของสารทั้ง 3 ประเภทนี้ปรากฎอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ เช่น นวนิยาย ที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ละครทางโทรทัศน์ ละครทางวิทยุ แต่ทั้งนี้จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการบริหารงานของสื่อแต่ละประเภท และก็ขึ้นอยู่กับจริยธรรม จรรยาบรรณและความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมที่สื่อมวลชนนั้น ๆ ดำเนินการอยู่ด้วย
3) การจัดสาร สารที่ถูกจัดเตรียมมาอย่างดี ทั้งในเรื่องของการเรียบเรียงลำดับ ความยากง่าย รูปแบบการใช้ภาษา จะทำให้สารนั้นมีคุณสมบัติในการสื่อสารได้ ตัวอย่างของการจัดสาร ที่เห็นได้ชัดก็คือ การจัดสารในการโฆษณา ซึ่งผู้ส่งสารได้ให้ความประณีตพิถีพิถันในการจัดสารเพื่อให้สารนั้นสามารถดึงดูดความสนใจของผู้รับสารสามารถที่จะให้ความเข้าใจและข้อคิดเห็นต่าง ๆ ได้ตามที่ผู้ส่งสารต้องการ
3. ช่องทางการสื่อสารหรือสื่อ (Channel)
ช่องทางการสื่อสาร หรือ สื่อ ในการสื่อสารใด ๆ ก็ตาม ผู้ส่งสารย่อมต้องอาศัยช่องทางหรือสื่อให้ทำหน้าที่นำสารไปยังผู้รับสาร โดยทั่วไปแล้วสารที่ถูกผู้ส่งสารถ่ายทอดไปยังผู้รับสารจะเข้าไปสู่ระบบการรับรู้ของมนุษย์โดยผ่านประสาทสัมผัสทางใดทางหนึ่ง หรือหลายทาง ได้แก่ ทางการเห็น โดยประสาทตา ทางการได้ยิน โดยประสาทหูทางการได้กลิ่น โดยประสาทจมูก ทางการสัมผัส โดยประสาทกาย และทางการลิ้มรสโดยประสาทลิ้น
ถ้าพิจารณาในแง่นี้แล้ว การสื่อสารระหว่างบุคคล 2 คนที่อยู่ต่อหน้ากัน สารก็จะผ่านช่องทางเหล่านี้ไปสู่การรับรู้ของผู้กระทำการสื่อสารทั้ง 2 ฝ่าย แต่ในการสื่อสารสำหรับคนที่อยู่ห่างไกลกัน มนุษย์ไม่สามารถจะอาศัยทางติตต่อที่มนุษย์มีอยู่ได้ มนุษย์จึงได้สร้างสื่อขึ้นมาเป็นเครื่องช่วยให้การติดต่อระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารมีความเป็นไปได้ มองในแง่นี้เราจะเห็นได้ว่า แม้คำว่า “ช่องทาง” และคำว่า “สื่อ” จะมีความหมายใกล้เคียงกัน และอาจใช้แทนกันได้ แต่แท้ที่จริงแล้วคำทั้ง 2 มีความหมายแตกต่างกัน คำว่า “ช่องทาง” หมายถึงทางซึ่งทำให้ผู้ส่งสารกับผู้รับสารติดต่อกันได้ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วน “สื่อ” นั้น หมายถึงสื่อที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ได้แก่ อากาศ แสง เสียง ตลอดจนอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มนุษย์คิดขึ้น เพื่อใช้ติดต่อส่งสารไปถึงกันและกัน
การจัดแบ่งประเภทของสื่อที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารนั้น อาจแบ่งได้หลายแบบไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนตายตัว เช่น อาจแบ่งโดยใช้ลักษณะของสื่อเป็นเกณฑ์ หรืออาจแบ่งโดยใช้จำนวนและลักษณะของการเข้าถึงผู้รับสารเป็นเกณฑ์ก็ได้
การแบ่งแบบใช้ลักษณะของสื่อเป็นเกณฑ์ มี 5 ประเภท คือ
- สื่อธรรมชาติ ได้แก่ บรรยากาศที่อยู่รอบตัวมนุษย์อันมีอยู่ตามธรรมชาติ ทำหน้าที่เป็นทางติดต่อของการสื่อสารระหว่างบุคคลแบบเผชิญหน้า
- สื่อมนุษย์ ได้แก่ บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นสื่อนำสารไปสู่ผู้รับ เช่น คนนำสาร นักเล่านิทาน โฆษก พ่อสื่อ แม่สื่อ ตัวแทนการเจรจาปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น
- สื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ สื่อทุกชนิดที่อาศัยเทคนิคการพิมพ์ เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ ใบปลิว แผ่นพับ วารสาร นิตยสาร ใบประกาศหรือแจ้งความ โปสเตอร์ ภาพ เป็นต้น
- สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ สื่อที่พัฒนาขึ้นโดยใช้ระบบเครื่องกลไกไฟฟ้า เป็นหลัก เช่น วิทยุ โทรทัศน์ โทรพิมพ์ เทปเสียง วีดีโอเทป เครื่องฉายภาพ เครื่องฉายภาพยนตร์ แม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ก็ใช่ เป็นต้น
- สื่อระคน ได้แก่ สื่อที่ทำหน้าที่นำสารได้แต่ไม่อาจจัดไว้ใน 4 ประเภท ข้างต้น เช่น หนังสือพิมพ์กำแพง วัตถุจารึก สื่อพื้นบ้าน เป็นต้น
การแบ่งแบบใช้จำนวนและลักษณะของการเข้าถึงผู้รับสาร มี 4 ประเภท คือ
- สื่อระหว่างบุคคล เป็นสื่อที่มนุษย์ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลที่อยู่ห่างไกลกันจนไม่อาจจะติดต่อกันโดยไม่ผ่านสื่อหรือไม่มีสื่อได้ เป็นสื่อที่ใช้เฉพาะบุคคล มีลักษณะเป็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับผู้อื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสื่อสารในขณะนั้น ๆ เช่น จดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ ภาพถ่ายในครอบครัว บันทึกช่วยจำ อนุทิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ทำหน้าที่ช่วยให้การส่งสารระหว่างผู้ส่งถึงผู้รับที่อยู่ห่างไกลกันมีความเป็นไปได้ นอกจากนั้น ก็ยังมีเครื่องมืออุปกรณ์บางชนิดที่จัดว่าเป็นสื่อที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างบุคคล เช่น การประชุมกลุ่มย่อย การเรียน การสอน ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้สื่อต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่น กระดานดำ หนังสือ เอกสาร เป็นต้น
- สื่อมวลชน มนุษย์คิดสื่อมวลชนขึ้น เพื่อที่จะติดต่อกับผู้รับสาร เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกันได้ โดยทั่วไปแล้วสื่อมวลชน ได้แก่หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ สื่อมวลชนนี้มีประโยชน์ในแง่ของการเผยแพร่ข่าวสารไปยังมวลชน ได้ ภายในเวลาอันรวดเร็ว
- สื่อเฉพาะกิจ คือ สื่อซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้สำหรับการสื่อสารที่สนับสนุน กิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ จำนวนและกลุ่มผู้รับสารมีลักษณะที่แน่นอน เมื่อเทียบกับสื่อมวลชนแล้ว สื่อเฉพาะกิจ จะแคบกว่าในแง่ของการเข้าถึงผู้รับสาร เช่น การจัดทำนิตยสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ภายในหน่วยงาน การทำวีดีโอเทปแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เป็นต้น
- สื่อประสม ได้แก่ การนำสื่อประเภทต่าง ๆ ทั้ง 3 ประเภท ข้างต้น ไปใช้ในการสื่อสารอันจะทำให้การสื่อสารในครั้งนั้น ๆ มีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้นในกรณีของสื่อนี้ หากมีการใช้โดยรู้จักข้อดีและข้อเสียของสื่อแต่ละชนิด เข้าใจ ถึงอิทธิพลของสื่อที่มีต่อพฤติกรรมการรับสาร มีการเลือกใช้สื่อให้เหมาะแก่วัตถุประสงค์ในการสื่อสารแล้ว ประสิทธิผลของการสื่อสารครั้ง ๆ นั้น ก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย
4. ผู้รับสาร (Receiver)
ผู้รับสาร เป็นองค์ประกอบประการสุดท้ายในกระบวนการของการสื่อสารและเป็นองค์ประกอบสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนกว่าองค์ประกอบอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะการสื่อสารใด ๆ ก็ตามจะไม่ประสบผลสำเร็จได้เลยหรืออาจประสบผลสำเร็จไม่เต็มที่ถ้าผู้รับสารไม่เข้าใจหน้าที่และบทบาทของตนเองที่มีต่อการสื่อสาร ในกระบวนการสื่อสารนั้น ผู้รับสารมีบทบาทขั้นพื้นฐาน 2 ประการ คือ
- การรู้ความหมายตามเรื่องราวที่ผู้ส่งสาร ส่งผ่านสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งมาถึงตน
- การแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อผู้ส่งสาร
ดังนั้น ในกระบวนการสื่อสารใด ๆ ก็ตาม การสื่อสารจะเกิดประสิทธิผลได้ก็ต่อเมื่อผู้รับสารได้พัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีทักษะในการสื่อสาร ได้แก่ การเป็นผู้ฟัง ผู้อ่าน ตลอดจนการเป็นผู้ที่สามารถคิดและรับรู้ความหมายได้ การมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ส่งสาร ต่อเรื่องที่สื่อสารตลอดจนการเป็นผู้มีความพยายามในการรับสารและสามารถแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อผู้ส่งสารทั้งนี้เพื่อให้การสื่อสารบรรลุเป้าหมายนั่นเอง
ในการพิจารณาองค์ประกอบทางด้านผู้ส่งสารและผู้รับสารนั้น ในความเป็นจริงแล้วทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร ก็คือ บุคคลอย่างน้อย 2 คน ที่มีบทบาทร่วมกันอยู่ในกระบวนการสื่อสาร ถ้าไม่มีผู้ส่งสาร และผู้รับสารแล้ว การสื่อสารก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ หรือถ้ามีแต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียวก็เช่นกัน การสื่อสารก็จะไม่เกิดขึ้น
ข้อสำคัญ ก็คือ ในกระบวนการสื่อสารระหว่างบุคคลนั้น เราไม่อาจชี้ให้ตายตัวลงไปได้ว่า ใครเป็นผู้ส่งสาร และใครเป็นผู้รับสาร เพราะจริง ๆ แล้ว บุคคลที่ทำการสื่อสารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสื่อสารแบบเผชิญหน้า (Face to Face) ระหว่างบุคคล 2 คน ทั้งสองคนต่างก็มีบทบาทเป็นทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร เกือบจะในเวลาเดียวกัน ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่าทั้ง 2 คน แสดงบทบาทในฐานะที่เป็นคู่ของการสื่อสาร ต่างก็ทำหน้าที่ในการเข้ารหัส ตีความ และถอดรหัสโดยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปจนกว่าการสื่อสารจะบรรลุเป้าหมาย
ในกระบวนการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารประเภทใดหรือระดับใดก็ตาม นอกจากองค์ประกอบการสื่อสารทั้ง 4 ประการที่กล่าวข้างต้นแล้ว ก็น่าจะมีองค์ประกอบเพิ่มเติมอีก 2 ประการ ที่จะทำให้กระบวนการติดต่อสื่อสารมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นองค์ประกอบทั้ง 2 ประการนี้ ก็คือ ปฏิกิริยาตอบกลับหรือปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (feedback) และกรอบแห่งการอ้างอิง (Frame of reference) หรือสนามแห่งประสบการณ์ร่วม (Field of experience) ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารในกระบวนการสื่อสารนั้น ๆ ด้วย
เทคนิควิธีการแบ่งปันข้อมูล
บล็อก (Blog)
บล็อก (Blog) มาจากคำว่า เว็บ-ล็อก (web-log) ซึ่งเป็นการเขียนบทความอธิบายหรือให้ข้อมูลเพื่อนำไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ โดยผู้เขียนบล็อกจะเรียกว่า “บล็อกเกอร์” หากมีผู้ติดตามจำนวนมากและเป็นที่นิยมจะกลายเป็น “อินฟลูเอนเซอร์”
ผู้ให้บริการเว็บบล็อก ได้แก่ Medium, Blognone, Dek-D เป็นต้น
ขั้นตอนการเขียนบล็อก
1.การวางแผน
1.1 กำหนดเรื่องที่จะเขียน
- เป็นเรื่องที่ผู้เขียนสนใจ
- ชักชวนผู้อ่าน
- การใช้คำเชิญชวน (CTA)
Call to Action (CTA) ข้อความที่ชักชวนหรือแนะนำ ให้ผู้อ่านกระทำตามเนื้อหาที่ผู้เขียนได้เขียนในบล็อกหรือในสื่ออื่น
“ลงทะเบียนรับสิทธิ์ใช้งานฟรี”
“ทดลองใช้ฟรี”
“สมัครเลยวันนี้”
“มาร่วมกับเราตอนนี้”
1.2 วางเค้าโครงเรื่อง
- หัวข้อหลัก (Title)
- หัวข้อลอง (Sub-Title)
- ส่วนนำ (Intro)
- เนื้อหา (Body)
- ส่วนสรุป (Conclusion)
ตัวอย่างการวางเค้าโครงเรื่อง
2.ค้นคว้า
ผู้เขียนบทความหลายคน อาจไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ในเนื้อหาที่จะเขียน แต่การค้นคว้าหาข้อมูลในสิ่งที่สนใจสามารถทำได้ง่ายและสะดวกในยุคดิจิทัล
การกำหนดเรื่องที่เราสนใจจะเข้ามามีบทบาทในขั้นตอนนี้เพราะการที่เราสนใจเราจะมีความสุขและความมุ่งมั่นในการค้นคว้าหาข้อมูลทำใด้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจและปริมาณเพียงพอที่จะเรียบเรียงบทความได้
3.ตรวจสอบข้อมูล
ข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้าหรือจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไปและหากเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อสือของผู้เขียน
4.การเขียน คำโปรย
คำโปรยเป็นประโยคสั้น ๆ ที่สรุปและเชื้อเชิญให้ผู้อ่านเข้าไปอ่านเนื้อหาโดยละเอียด การเขียนคำโปรยควรใช้ภาษาที่จูงใจหรือดึงดูดความสนใจของผู้อ่านให้อยากรู้เนื้อหาโดยละเอียดบางครั้งผู้เขียนคำโปรยอาจใช้เทคนิคที่เรียกว่า คลิกเบต (clickbait) ซึ่งเป็นการเขียนเพื่อหว่านล้อมให้เข้าไปอ่านเนื้อหาทั้ง ๆ ที่เนื้อหาไม่มีความน่าสนใจเพียงพอ คำที่พบบ่อย เช่น ตะลึง!! อึ้ง! แล้วคุณจะคาดไม่ถึง!! รีบดูก่อนโดนลบ!! คลิกเข้าไปดูสิ!! แม้ว่าการเขียนคำโปรยแบบคลิกเบตจะทำให้ผู้คนสนใจและเข้าไปอ่านเนื้อหา แต่เป็นการกระทำที่หลอกลวง และอาจลดความน่าเชื่อถือของบล็อกได้
การเขียนคำโปรย ควรคำนึงถึงผู้อ่าน ว่าสนใจเรื่องใด และควรใช้ภาษาในระดับใด แม้ว่าจะเป็นบทความในเรื่องเดียวกัน แต่คำโปรยต่างกัน ย่อมดึงดูดผู้อ่านต่างกัน
5.การเขียน
หลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้อง วางโครงเรื่อง เขียนคำโปรย และได้ชื่อเรื่องที่สื่อถึงเนื้อหาที่จะเขียนแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเขียนบทความ
การเขียนนั้น อาจเขียนคราวเดียวจบ หรืออาจจะแบ่งเป็นส่วน ๆ แล้วค่อย ๆ เขียนไปทีละส่วนก็ได้ แต่นักเขียนส่วนใหญ่จะแนะนำว่า ควรที่จะเขียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในคราวเดียวเพื่อให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับเนื้อหาที่เขียน ทำให้ไม่ลืมเนื้อหาที่เป็นจุดสำคัญที่ต้องการให้ปรากฎในบทความ
หลังจากที่เขียนบทความแล้ว ทุกครั้งที่กลับมาอ่าน อาจต้องการเพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนเนื้อหาในบางส่วน เมื่อปรับเปลี่ยนหลายครั้ง อาจทำให้เนื้อหาในบทความคลาดเคลื่อนจากประเด็นที่ต้องการจะสื่อ ดังนั้นการเขียนบทความควรเขียนให้จบในคราวเดียว
6.การใช้ภาพประกอบ
ในปัจจุบัน ผู้อ่านมักมีสมาธิจดจ่ออยู่กับตัวหนังสือในเวลาจำกัด ถ้าบทความในบล็อกไม่มีภาพประกอบ ผู้อ่านส่วนใหญ่อาจให้ความสนใจไปรับข้อมูลจากสื่ออื่น เช่น เฟซบุ๊กหรือยูทูบ การใช้ภาพประกอบช่วยลดความรู้สึกอึดอัดในการเห็นเฉพาะตัวหนังสือ และการใช้ภาพประกอบจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจการดำเนินเรื่องของบทความ โดยผู้อ่านสามารถกวาดตามองทั้งบทความเพื่อดูว่าบทความนี้เกี่ยวกับอะไร นอกจากนี้การใช้ภาพยังช่วยสร้างจุดสนใจหรือเสริมความเข้าใจในการอ่านข้อความรวมทั้งช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาที่ไม่สามารถบรรยายด้วยตัวอักษรได้
7.การตรวจทานแก้ไข
การตรวจทานแก้ไขขั้นตอนนี้นอกจากจะตรวจทานเพื่อแก้ไขตัวสะกดและไวยากรณ์แล้ว ผู้เขียนควรตรวจทานว่ามีการเขียนประเด็นที่ซ้ำกันหรือไม่
ในการตรวจทาน อาจอ่านออกเสียงเพื่อตรวจสอบความต่อเนื่องของบทความ หรืออาจให้ผู้อื่นช่วยอ่านเพื่อตรวจทานด้วย
การเขียนที่ดีควรเขียนให้กระชับ ในแต่ละย่อหน้าควรจะมีเพียงประเด็นเดียว โดยอาจมีประโยคที่กล่าวถึงประเด็นหลักไว้ที่ประโยคแรกหรือประโยคสุดท้ายของย่อหน้า เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น
เกร็ดน่ารู้ แพลตฟอร์มสำหรับเขียนบล็อก
การเขียนบล็อกสามารถทำได้บนแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเขียน เผยแพร่ และนำเสนอบนสื่อสังคมสำหรับผู้เริ่มต้น อาจเลือกใช้รูปแบบที่มีอยู่ในแพลตฟอร์มหรืออาจเพิ่มเติมปรับแต่งรูปแบบตามความชอบ โดยแต่ละแพลตฟอร์มจะมีจุดเด่น หรือรูปแบบที่ให้ปรับแต่งแตกต่าง
กันออกไป แพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยม เช่น WordPress,Blogger, Medium, Blognone, Dek-D, Nation Blog,Bloggang และ Storylog